กลไกในกลยุทธ์

คอลัมน์ CSR Talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ย้อนหลังกลับไปกว่า 10 ปี เด็กหนุ่มชาวม้งคนหนึ่งจากจังหวัดตาก ตัดสินใจเข้าโครงการผลิตช่างเทคนิคแก่ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ของสถาบันไทย-เยอรมัน หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมปลายแทนการเข้าสู่กระบวนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะครอบครัวของเขายากจนเกินกว่าจะใช้เวลาอีก 4 ปีไปกับความเสี่ยงที่จะเป็นบัณฑิตตกงาน

เพราะโครงการนี้ให้การรับรองว่าหากผ่านหลักสูตร 8 เดือน และฝึกงานอีก 4 เดือน เขาจะได้งานทำแน่นอน และวันนี้ไม่เพียงแต่เขาจะมีงานทำที่มั่นคงในบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น แต่เขาได้ก้าวมาสู่ตำแหน่ง World Skill Champion มีตัวเลขเงินเดือนหลายหมื่น พร้อมสวัสดิการที่มั่นคง เป็นแรงบันดาลใจให้รุ่นน้องชาวม้งในท้องถิ่นทุรกันดาร และได้ส่งเงินจากน้ำพักน้ำแรงของเขากลับไปช่วยเหลือรุ่นน้องที่โรงเรียนเดิมอย่างสม่ำเสมอ

สิบกว่าปีของโครงการผลิตช่างเทคนิคแก่ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ของสถาบันไทย-เยอรมัน สร้างช่างเทคนิคป้อนให้กับอุตสาหกรรมมาแล้วถึง 13 รุ่น สร้างอนาคตที่มั่นคงแก่ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือ เด็กทุกคนจากโครงการนี้ไม่เป็นเพียงช่างเทคนิคที่มีฝีมือดี แต่พวกเขาล้วนเป็นพนักงานที่ดี มีวินัย มีความขยัน และมีจริยธรรม เป็นที่ต้องการของเจ้าของกิจการจนผลิตไม่เพียงพอ

CSR ของสถาบันไทย-เยอรมันโครงการนี้นับได้ว่าเป็นโครงการที่สร้างคุณค่าและมีผลลัพธ์มูลค่าสูง ด้วยการดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์ และกระบวนการในการนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผลเริ่มจากแนวคิดในการทำโครงการที่ได้นำเอาความเชี่ยวชาญขององค์กรและทรัพยากรที่มีอยู่ รวมทั้งเครือข่ายผู้ประกอบการเข้ามาให้การสนับสนุน การเลือกกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ก็ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายประเด็น ทั้งการขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ การศึกษาที่เท่าเทียม

กลยุทธ์ที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ คือ การสร้างคุณค่าของการเป็นผู้ให้ โดยมีกลไกสำคัญอยู่ที่การกำหนดตัวชี้วัดรายบุคคลไปถึงตัวชี้วัดขององค์กรในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหมายความว่าบุคลากรทุกคนต้องมีกิจกรรมจิตอาสาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงาน หลายองค์กรใช้ตัวชี้วัดเป็นกลไกขับเคลื่อน CSR ขององค์กรเช่นกัน

แต่การทำให้พนักงานเห็นคุณค่าที่แท้จริงของการทำงานเพื่อสังคมนั้น การกำหนดตัวชี้วัดไม่ใช่คำตอบเดียว กลไกที่ต้องสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงคุณค่าของการเป็นผู้ให้ คือ สภาพแวดล้อมขององค์กรเอง เริ่มจากผู้นำที่ต้องแสดงแนวคิดที่ชัดเจน และเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ การถ่ายทอดเรื่องเล่าในกิจกรรมจิตอาสา สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน กำหนดค่านิยมในการเป็นผู้ให้ ใส่ใจในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น

ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมันถ่ายทอดแนวคิดในโครงการนี้ว่า ผลผลิตของโครงการ คือ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้จะต้องไม่เพียงเป็นคนเก่ง แต่ต้องเป็นคนดีและมีความสุข ดังนั้น วิทยากรทุกคนที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปเป็นผู้ฝึกอบรมต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่ไม่เพียงให้ความรู้ หากต้องใส่ใจดูแลทุกข์สุขของเด็กทุกคนตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่อยู่ร่วมกันด้วย และยังติดตามไปดูแลการฝึกงานในสถานประกอบการอีก 4 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กได้รับการฝึกงานไปสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ไม่ใช่ไปเป็นเด็กรับใช้ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

ความสำเร็จของเด็กที่เข้ามาในโครงการได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับวิทยากรทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ยังแสดงความเอื้ออาทรต่อเด็กที่มาเข้าโครงการเสมอ เช่น หาผลไม้ ขนม อาหารแห้งมาไว้ให้ ช่วยเป็นหูเป็นตาในการดูแลเด็กที่จากบ้านมาไกล ซึ่งอาจมีปัญหาด้านอารมณ์ซึมเศร้า ว้าเหว่ โดยบอกให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปดูแล เป็นต้น

ปาฐกถาพิเศษของ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา กล่าวถึงการขับเคลื่อนด้วยคุณภาพและผลิตภาพในระดับจุลภาค

ซึ่งการทำ CSR ขององค์กรต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทได้ด้วยโครงการเสริมสร้างศักยภาพของคนในชุมชน ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้จะต้องดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์นั่นคือ ทำความเข้าใจกับปัญหา และใช้ความรู้กำหนดแนวทางที่จะไปสู่เป้าหมาย สร้างกลไกขับเคลื่อน ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้สังคมอย่างแท้จริง