“TCP” โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

เพราะมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชน เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาที่ทำให้ “กลุ่มธุรกิจ TCP” เปิดตัวโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย”

“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญ เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต อีกทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่างมีความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นทุกปี รวมถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประเทศ

“กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลักในการดำเนินธุรกิจ จึงกำหนดให้การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอยู่ในกรอบการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร จึงทำให้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งน้ำที่หลากหลายในการอุปโภคบริโภคของชุมชนทั้งน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน ทั้งยังตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี (2562-2566) จะสามารถพัฒนาแหล่งน้ำให้กับชุมชนได้มีน้ำใช้เพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร”

“ที่ผ่านมาเราร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยม จ.แพร่ และลุ่มน้ำปราจีน จ.ปราจีนบุรี และจากความสำเร็จเราจึงจุดประกาย และเป็นแรงขับเคลื่อนให้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ต่อยอดมาพัฒนาการบริหารจัดการตลอดทั้งลุ่มน้ำ เพื่อสร้างสมดุลน้ำให้แก่ชุมชนทั้งสองพื้นที่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยอนาคตเราพร้อมจะขยายการพัฒนาออกไปจนครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืนในระยะยาว”

 

นอกจากการพัฒนาแหล่งน้ำ TCP ยังให้ความสำคัญกับการเติมน้ำให้กับชั้นดิน โดยเรื่องนี้ “สราวุฒิ” บอกว่าถึงแม้ว่าน้ำใต้ดินจะไม่ได้เป็นแหล่งน้ำในการผลิตของกลุ่มธุรกิจ TCP แต่ด้วยความห่วงใยในปัญหาทรัพยากรน้ำในทุกมิติ เราจึงให้ความสำคัญกับการเติมน้ำให้กับชั้นดินควบคู่กันไป

“โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษา วิจัย รวมทั้งประเมินศักยภาพของพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการเติมน้ำใต้ดิน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ ลดปัญหาภัยแล้ง ด้วยการกักเก็บน้ำที่มีมากในฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง และลดการระเหยของน้ำที่กักเก็บไว้ใช้ในฤดูต่าง ๆ โดยมุ่งหวังให้ผลที่ได้จากการศึกษาจะเป็นองค์ความรู้สำหรับการเติมน้ำในดิน คืนความสมดุลให้กับแหล่งน้ำใต้ดิน และยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์น้ำใต้ดินให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย”

“ทั้งนี้ตามแผนการดำเนินงาน 5 ปีของโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย และพันธมิตร คาดว่าจะสามารถช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีนฯ กว่า 16,000 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด ได้แก่ แพร่, สุโขทัย, พิจิตร, สระแก้ว, ปราจีนบุรี และนครนายก เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนจากการมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการไว้ราว 100 ล้านบาท”

และเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป “สราวุฒิ” กล่าวเพิ่มเติมว่ากลุ่มธุรกิจ TCP จึงวางแผนจัดกิจกรรมอาสาสมัครผ่านโครงการ TCP Spirit ซึ่งเน้นการทำกิจกรรมร่วมกับอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ ให้ได้เรียนรู้ถึงการเชื่อมโยงของสรรพสิ่งรอบตัว สอดแทรกสาระความรู้ แฝงความสนุกสนาน และประสบการณ์แปลกใหม่ พร้อมกับลงมือทำเองทุกขั้นตอน

“โดยโครงการ TCP Spirit ปีที่ 2 นี้จะจัดกิจกรรม 2 ครั้ง ภายใต้แนวคิดพยาบาลลุ่มน้ำ เพื่อพาอาสาสมัครรุ่นใหม่เกือบ 200 คน ไปเปิดประสบการณ์ เข้าใจปัญหาลุ่มน้ำและสร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งร่วมลงมือทำงานแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่การจุดประกายสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในเรื่องนี้สืบไป โดยเริ่มครั้งแรกในเดือนสิงหาคมที่จังหวัดน่าน และปิดท้ายโครงการในเดือนตุลาคมนี้”

จึงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการของ TCP ที่น่าสนใจจริง ๆ