มองมุมคิด “มั่นคงเคหะการ” เติม Well-being สร้างสุขให้องค์กร

วัฒนธรรมองค์กรเป็นวิถีชีวิตที่คนทำงานยึดถือปฏิบัติ ซึ่งแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันไป แต่ดูเหมือนว่าแนวคิด well-being กำลังเป็นวิถีชีวิตในองค์กรที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้นในแวดวงการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่อาจแปลง่าย ๆ ว่า “ความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน”

สำหรับองค์กรที่ให้ความสำคัญ และมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก ๆ คือ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK เพราะเริ่มปรับกำลังคนสู่วิถี well-being มาตั้งแต่ปี 2015 โดยทำอย่างสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันด้วย

“ดุษฎี ตันเจริญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คนมักพูดถึงคำว่า wellness โดยหมายถึง สุขภาพดีทางร่างกาย แต่มั่นคงเคหะการเลือกที่จะเดินตามแนวคิด well-being มากกว่า เพราะมีความหมายที่ครอบคลุม นับรวมตั้งแต่สุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมไปถึงสุขภาวะทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี

“แนวคิดนี้เริ่มจากธุรกิจของเรา โดยทำการรีแบรนด์ และเปลี่ยนโลโก้ตั้งแต่ปี 2015 เป็นปีที่มั่นคงฯเปลี่ยนผู้ถือหุ้น ซึ่งเราตั้งใจต่อยอดจากสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่แล้วให้ดีมากยิ่งขึ้น เราจึงขยายธุรกิจที่มากกว่าแค่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แบรนด์ชวนชื่น และสิรีนเฮ้าส์ โดยเราเพิ่มธุรกิจการให้เช่าแวร์เฮาส์ และการบริการ property management ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล”

“เราปรับเปลี่ยนรูปแบบอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการปรับแนวคิด well-being ไปอยู่ในทุกส่วนของอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นเราเริ่มเกิดความคิดขึ้นว่า การจะถ่ายทอดแนวคิดนั้น ๆ ให้ไปสู่อสังหาริมทรัพย์และลูกค้าได้ คนในองค์กรจะต้องไปในทางเดียวกับแนวคิดทางธุรกิจด้วย เราจึงเริ่มปรับภายในองค์กร พอดีตอนนั้นกำลังสร้างออฟฟิศใหม่ด้วย เราจึงออกแบบให้ออฟฟิศส่งเสริมการมี well-being ต่อพนักงาน ซึ่งถือว่าเป็นการปรับวิถีการทำงานที่ครบวงจร”

“เราย้ายมาอยู่ออฟฟิศใหม่ได้ 2 เดือน พยายามทำให้ออฟฟิศเป็นแบบคอมมิวนิตี้ เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความสุข โดยนอกจากส่วนของออฟฟิศ เรายังมีโคเวิร์กกิ้งสเปซ มีฟิตเนส มีครัวที่มีอุปกรณ์ครบ และมีสวนปลูกผักออร์แกนิกบนดาดฟ้า ที่ทำแบบนี้เพราะต้องการให้คนข้างในองค์กรเข้าใจแก่นขององค์กรที่กำลังเป็นอยู่อย่างถ่องแท้ เพราะถ้าเราเพียงแต่พูดให้พนักงานฟัง แล้วไม่ได้ให้เขาได้สัมผัส พนักงานจะไม่เข้าใจ เราจึงต้องทำให้พวกเขาเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ในออฟฟิศ”

“ดุษฎี” อธิบายต่อว่า ปัจจุบันมีพนักงาน 300 คน และเรายังคงรักษาดีเอ็นเอของพนักงานแบบเดิมไว้ที่มีความเชี่ยวชาญ และความละเอียดรอบคอบ แต่เพิ่มในแง่ของดีไซน์ ความคิดสร้างสรรค์ และการกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ซึ่งวิธีการทำงานในองค์กรก็จะเปลี่ยนไปด้วย

“ก่อนหน้านี้พนักงานจะทำงานแบบแผนกใครแผนกมัน แต่พอเราปรับให้พนักงานทำงานเป็นทีม ด้วยการผสมผสานคนจากหลายแผนก และให้ใช้โปรเจ็กต์เป็นตัวตั้งในการมองเป้าหมายร่วมกัน ที่สำคัญ เราพยายามสอนให้พวกเขาเน้นการทำงานเป็นทีมเวิร์ก และเบรนสตอร์มกันมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าการทำแบบนี้พนักงานจะรู้ปัญหาของแต่ละแผนกมากขึ้น และช่วยกันแก้ปัญหาได้ เพราะเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนที่สุดงานก็จะออกมาสมูท”

“ตั้งแต่มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น อัตราเทิร์นโอเวอร์ไม่ได้สูงขึ้น เราเชื่อว่าการที่พนักงานยังรักที่จะอยู่กับเรา เพราะเราทำให้พวกเขามั่นใจ ที่สำคัญ เราต่อยอดให้พวกเขาเห็นอนาคต และการเติบโตต่อไป พวกเขาจึงรู้สึกมั่นคง นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มจำนวนพนักงาน เพราะเราฟอร์มทีมใหม่ ภายใต้บริษัท ยัวร์ส พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด เพื่อเข้ามาดูแลบริหารโครงการที่พักอาศัยต่าง ๆ ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการดูแลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคม well-being ให้กับลูกค้า”

“โดยมองว่าทักษะที่เราจะเพิ่มมาให้คนของเราต่อจากนี้ คือ เรื่องของภาษาอังกฤษ เพราะเห็นว่าโอกาสทางธุรกิจมีเพิ่มมากขึ้นในส่วนของลูกค้าต่างชาติ เราจึงพยายามสร้างทักษะคนของเราให้เข้ากับทิศทางทางธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้ยังมีการลงทุนเรื่องซอฟต์แวร์สำหรับการทำงานใหม่ ๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา และทำการตลาดแบบดิจิทัลมากขึ้น เราพยายามสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับพนักงาน ส่งเสริมให้พวกเขาได้เรียนรู้ทั้งภายนอกและภายในองค์กร”

“ดุษฎี” บอกว่า การที่องค์กรเป็น well-being ทำให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี และช่วยเพิ่ม productivity ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาที่ใช้ในการทำงานน้อยลง ไปจนถึงการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น

เราเพิ่มอุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยเสริมสุขภาพให้แก่พนักงาน เช่น โต๊ะลู่วิ่งในห้องประชุม ที่ให้พนักงานประชุม และออกกำลังกายไปด้วยได้ ปรับให้พื้นที่การทำงานเป็นแบบเปิด สามารถพูดคุยทั่วถึง มีพื้นที่เล่นปิงปองใกล้ ๆ ที่นั่งทำงาน เพื่อให้พนักงานเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะเราอยากให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุข

“นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมจิตสำนึกด้านการแยกขยะ โดยทุกโต๊ะจะไม่มีถังขยะ แต่เรามีถังขยะรวม ที่แยกตามประเภทขยะ โดยให้พนักงานได้เรียนรู้การแยกขยะอย่างถูกวิธีและให้เดินแทนการใช้บันไดทั้งยังให้หลีกเลี่ยง และลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยเราจะแจกกระบอกน้ำให้กับพนักงาน เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะเราคิดว่าถ้าเราปลูกฝังให้คนของเราสามารถเริ่มทำสิ่งเหล่านี้ได้ พวกเขาจะมีความละเอียดอ่อน และคำนึงถึงสังคมมากขึ้น”

“ในส่วนเอชอาร์เราเพิ่มงานด้านการจัดแคมเปญเกี่ยวกับบุคลากรมากขึ้น โดยแต่ละเดือนจะมีธีมกิจกรรมที่ต่างกันไป เช่น water challenge คือ การรณรงค์ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอในแต่ละวัน กิจกรรม happy fine day เวทีที่ให้พนักงานได้มาแสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นเล่นดนตรี ร้องเพลง การแข่งปลูกผักออร์แกนิกบริเวณดาดฟ้า โดยให้พนักงานมาร่วมปลูกผักผลไม้อินทรีย์ในชนิดที่ต่างกันแต่ละแผนก เพื่อนำมาบริโภคและแลกเปลี่ยนกันกิน ขณะที่ส่วนหนึ่งก็จะนำไปใช้ทำอาหาร เพราะเรามีการสอนการทำอาหารเพื่อสุขภาพ และกิจกรรม food sharing ด้วยการให้พนักงานแต่ละคนนำอาหารมาทานด้วยกัน เพื่อสานสัมพันธ์ และแบ่งปันความรู้ต่าง ๆ ด้วยกัน”

“เพราะเราคิดว่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร เรื่องของอาหารการกิน และวัตถุดิบต่าง ๆ ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีเสมอ เพราะกว่า 80% ของการมีร่างกายที่มีสุขภาพดี และแข็งแรง นอกจากจะมาจากการออกกำลังกายแล้ว ยังมาจากสิ่งที่เราทานเข้าไปด้วย เราเชื่อว่าชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวที่ดี เป็นเรื่องที่ทำไปพร้อม ๆ กันได้ ตรงนี้จึงทำให้เราพยายามทำองค์กรให้เป็นพื้นที่แห่งสุขภาวะที่ดี ที่พนักงานมีความสุขกายและสบายใจ”

อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะก้าวสู่การเป็นองค์กร well-being อย่างเต็มตัว เพราะนอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่บริษัทตั้งใจมอบให้แก่พนักงานทุกคน ยังมีการปรับวัฒนธรรมองค์กร ด้วยการเน้นการปลูกฝังความเป็น well-being ให้อยู่ใน DNA ของพนักงานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มากมายอีกด้วย