การเรียนรู้ตลอดชีวิต SEAC-มจธ.สร้างหลักสูตรป้อนตลาดงาน

ในสภาวะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งยังมีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาให้ทรัพยากรมนุษย์ต้องปรับตัวอยู่เสมอโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่งผลให้คนทำงานต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง เพราะโลกของการทำงานยุคใหม่มีองค์ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว คนทำงานต้องมีทักษะอื่น ๆ เพิ่มด้วย โดยเฉพาะทักษะด้าน hyper-relevant skills ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้เผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียนเล็งเห็นความสำคัญของทักษะดังกล่าว และมีความมุ่งหวังอยากจะยกระดับศักยภาพคนไทยให้มีทักษะชีวิตที่ดีในการทำงานสายอาชีพต่าง ๆ จึงผนึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดทำโครงการ “ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (lifelong learning)

อริญญา เถลิงศรี

“อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการSEAC กล่าวว่า ด้วยพันธกิจ EMPOWER LIVING เรายังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของคนไทยผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อเนื่อง โดย 28 ปีที่ผ่านมาแต่ละก้าวที่ SEAC เดินเราตั้งโจทย์เสมอว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยเก่งขึ้น สามารถไปแข่งขันบนเวทีโลกได้ ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันหลายอย่างสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการคือ ยกระดับศักยภาพ และพัฒนาทักษะของคนไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน เพื่อเป็นพลวัตสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร และประเทศไปข้างหน้า

“เราจึงเดินหน้าหาพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน และมองว่าสถาบันการศึกษาถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการทางด้านบุคลากรในตลาดแรงงาน อันเป็นเหตุผลที่ SEAC และ มจธ.จุดประกายร่วมกันออกแบบหลักสูตรเกี่ยวกับทักษะชีวิต เพื่อให้นักศึกษาและคนทำงานอาชีพต่าง ๆ มีความพร้อมทั้งวิชาชีพ และวิชาชีวิต (mindset, skill set) เพื่อนำไปสู่โอกาสในการทำงาน”

“เพราะทักษะการทำงานยุคใหม่นั้นhyper-relevant skills ถูกพูดถึงมากที่สุดใน world economic forum เป็นทักษะเชิงการคิดวิเคราะห์, เกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆอยู่เสมอ รวมถึงการสื่อสารการทำงานเป็นทีม หากนักศึกษาหรือคนทำงานที่อยู่ในระบบมีทักษะเหล่านี้จะช่วยให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นและไม่ว่าจะทำงานในสายอาชีพไหน หรืออยากเปลี่ยนเส้นทางเดิน สามารถมองหาโอกาสใหม่ ๆ และเปลี่ยนตัวเองได้ทันที”

“ที่สำคัญทักษะดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานท่ามกลางบริบทต่าง ๆ ได้ เพราะสถานการณ์ขณะนี้องค์ความรู้ของคน (hard skill) ไม่มีทางเพียงพอสำหรับ new economy ขณะที่โลกกำลังถูกดิสรัปชั่นด้วยเทคโนโลยีและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก”

“อริญญา” กล่าวต่อว่า แม้ว่า hyper-relevant skills จะมีความสำคัญในการทำงานมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาสถาบันการศึกษายังไม่มีการสอน จึงทำให้มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งมุ่งเน้นไปทางด้านวิชาการ ไม่มีการสอนทักษะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกการใช้ชีวิต ทำให้บางคนทำงานในองค์กรเก่งมาก แต่ไม่มีความสุข จึงถูกมองว่าไม่มีความอดทน

“ดังนั้น นักศึกษาจบใหม่ที่เข้ามาทำงานมักจะไม่ตอบโจทย์ในแบบที่องค์กรต้องการ ฉะนั้น บทบาทของมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสอนทักษะชีวิตทั้งทางด้านอารมณ์ จิตใจ และสกิลต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเอาตัวรอดในการทำงาน เพราะคนที่อยู่ในองค์กรมานานไม่ค่อยปรับตัว แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปก็ตาม ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนคือ mindset เพราะเกี่ยวข้องกับวิธีการมองเรื่องต่าง ๆ ให้ไปในทางที่ดี รวมถึงทักษะ communication skill หรือการสื่อสารกับผู้ร่วมงาน, presentation skill นำสิ่งที่เรียนไปปรับใช้หรือต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในอนาคต”

“ตัวอย่างเช่น มจธ.ผลิตบัณฑิตที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือวิศวะที่มีความรู้เฉพาะด้านแล้ว แต่จะนำความรู้นั้นมาใช้อย่างไร ไม่ใช่แค่เรียนจบรับปริญญาบัตรอย่างเดียว, รวมไปถึงทักษะ agility ความว่องไว และทักษะทางด้าน EQ ด้วย อันเป็นหัวใจสำคัญที่ SEAC นำมาสอนเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงาน เราจะไม่ได้จับปลาให้คนไทย แต่เราต้องการสอนคนไทยให้จับปลา หรือตกปลาเป็น และรู้ว่าบ่อปลาอยู่ที่ไหน เพราะเราเชื่อว่าคนไทยจะจับปลาได้ไม่น้อยกว่าประเทศใดในระดับสากล”

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย

“รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงมุมมองการศึกษายุคใหม่ว่า ปัจจุบันใบปริญญายังสำคัญอยู่แต่จะลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ โดยอนาคตทักษะชีวิตจะสำคัญกว่าทักษะองค์ความรู้ เพราะองค์ความรู้หาที่ไหนก็ได้ แต่ทักษะชีวิตต้องฝึกฝน ซึ่งทักษะนี้สามารถสร้างความสำเร็จให้กับหลาย ๆ คนมาแล้ว เช่น นักศึกษาบางคนไม่ใช่เด็กเรียนเก่งหน้าห้อง แต่เขามีทักษะทางความคิดดีจึงทำให้เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

“ที่ผ่านมาหลักสูตรวิชาเรียน มจธ.มักมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดปัญหาหลักสูตรการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับเนื้องานในตลาดแรงงานปัจจุบัน และสร้างคนรุ่นใหม่ให้สามารถเข้าสู่ตลาดงานได้ตามสายงานที่ตลาดต้องการ เพราะโดยส่วนใหญ่ตลาดแรงงานมักต้องการคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับองค์กร และสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น มจธ.จึงให้ความสำคัญกับเรื่อง soft skill ผนวกเข้ากับวิชาเรียนเพราะคิดว่าทักษะในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองสำคัญที่สุด รวมถึงทักษะชีวิตจะทำให้บุคลากรของเรามีหูตากว้างไกลมากขึ้น”

“ผมมองว่าบทบาทของความเป็นมหาวิทยาลัยต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมาเรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill) หรือต่อยอดยกระดับทักษะ (upskill) เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน

ได้ตลอดเวลา ดังนั้น ระบบการศึกษาจึงต้องออกนอกกรอบของเวลาแบบเดิม ๆอยากจะเข้ามาเรียนตอนไหนก็ได้ เพราะนิยามคำว่า “นักศึกษา” จะมองแต่ผู้ที่เรียนจบ ม.6 ไม่ได้แล้ว ยังมีคนในวัยทำงานกว่า 38 ล้านคนอยากจะยกระดับศักยภาพตนเอง หรือหาสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง”

“ขณะที่อาจารย์ผู้สอนก็ต้องรู้เท่าทันระบบการทำงานของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจด้วยว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว เพื่อตอกย้ำการเป็น lifelong learning ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างสองสถาบันจะพัฒนาหลักสูตรเข้ามาเสริมกับวิชาหลักของนักศึกษา มจธ.โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ยังเป็นหลักสูตรที่กลุ่มลูกค้า SEAC หรือคนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้ได้ ซึ่งเราจะออกแบบให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning), ออนไลน์ (online learning) และแบบห้องเรียน (classroom learning)”

เพราะเชื่อว่าด้วยสถานการณ์ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับการ reskill-upskill ตนเองมากขึ้น โดยที่รูปแบบในห้องเรียนจะมีการผสมผสานระหว่างนักศึกษาและคนทำงานมาเรียนร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดของกันและกัน โดยระยะแรกจะมีการนำร่องสร้างกลุ่มอาชีพใหม่ป้อนภาคการศึกษาเพื่อลดปัญหานักศึกษาจบใหม่ หรือคนที่กำลังมองหางานใหม่ เช่น นักออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์ (online instructional designer), ผู้สอนเสมือนจริง (virtual learningfacilitator), นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล(data scientist facilitator) ซึ่งจะมีการเปิดตัวหลักสูตรภายในปี 2563

“อริญญา” กล่าวเสริมในตอนท้ายว่าหลักสูตรนี้มีความจำเป็นมากสำหรับอนาคต เพราะการเรียนออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องออกแบบหลักสูตรที่สามารถดึงดูดให้คนอยากเข้ามาเรียนตลอดเวลา ให้ติดเหมือนเล่นเกม โดยทั้ง 3 หลักสูตรนี้คาดว่าจะเปิดตัวภายในปีนี้ และกำลังมีแผนจะพัฒนาหลักสูตรที่เป็นอาชีพใหม่อีกมาก

“สำหรับความร่วมมือครั้งนี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 18 มิ.ย. 2563-17มิ.ย. 2566 และมีแผนจะต่อยอดโครงการไปสู่กลุ่มประเทศในอาเซียนต่อไป เพื่อลดเส้นแบ่งเขตแดนการศึกษา โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศใกล้เคียงกับเรา และมีแรงงานประสิทธิภาพที่น่าสนใจ มากไปกว่านั้นมจธ.และ SEAC มีความเชื่อมั่นตรงกันว่าหลักสูตรที่ร่วมกันออกแบบใหม่ครั้งนี้จะช่วยลดปัญหาการผลิตคนไม่สอดคล้องกับเนื้องานในตลาดแรงงานปัจจุบัน”

ทั้งนั้น เพื่อสร้าง “คนรุ่นใหม่” เข้าสู่ “ตลาดแรงงานเฉพาะ” ตามที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการได้ทันท่วงที