“โค้ก” ผนึก “เทอร์ราไซเคิล” ติดตั้งเครื่องดักขยะคลองลาดพร้าว

เครื่องดักขยะในคลอง
เครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าว

เพราะเรื่องของน้ำคือหัวใจหลักในการดำรงชีวิตของคน อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเครื่องดื่มหลากหลายชนิด จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำมาโดยตลอด และไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่โคคา-โคลาทั่วโลกต่างยึดพันธกิจสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (water stewardship) เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งเหมือนกับโครงการติดตั้งเครื่องดักขยะ จำนวน 2 เครื่องในคลองลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของโคคา-โคลาที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย และสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แหล่งน้ำในประเทศไทย โดยคลองลาดพร้าวถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการทำความสะอาดแม่น้ำ9 แห่งทั่วโลก ภายใต้โครงการ Benioff Ocean Initiative ของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา

โดยมูลนิธิโคคา-โคลา มอบเงิน11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 345 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี

นันทิวัต ธรรมหทัย
นันทิวัต ธรรมหทัย

“นันทิวัต ธรรมหทัย” ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การประสานความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ไร้ขยะทั้งบนพื้นดินและในทะเลนับเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของโคคา-โคลา ภายใต้วิสัยทัศน์ระดับโลกWorld Without Waste เพราะโคคา-โคลาเชื่อว่าเมื่อพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมมองเห็นคุณค่าร่วมกัน และหันมาจับมือทำงานภายใต้เป้าหมายสำคัญเดียวกัน ย่อมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

“แม้ว่าโครงการนี้จะเป็นเพียงการดำเนินงานในระยะเริ่มต้นที่ไม่ใหญ่โตมากนัก แต่หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมพัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งจะมีการกำจัดขยะอย่างเหมาะสมสำหรับความร่วมมือในโครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าว เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 ภายใต้การทำงานของมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิเทอร์ราไซเคิลโกลบอล ในสหรัฐอเมริกา โดยคลองลาดพร้าวตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯเชื่อมต่อระหว่างคลองแสนแสบ และคลองสอง เป็นระยะทางยาวรวม12.56 กม. ได้รับเลือกผ่านการหารือ และพูดคุยระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ทีมงานUrban Action และผู้นำชุมชน”

Advertisment

“ที่สำคัญคลองดังกล่าวประสบปัญหามลพิษขยะจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการทำความสะอาดเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน จากเดิมที่หน่วยงานในพื้นที่และองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักการระบายน้ำ ต่างก็ทำงานอย่างหนักในการช่วยทำความสะอาดคลองดังกล่าวอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะในคลองยังคงมีมาก ส่วนใหญ่มาจากการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมของชุมชนริมคลอง”

อันสอดคล้องกับความคิดของ “เจมส์ สกอทท์” ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ที่บอกว่าโดยสภาพทั่วไปของคลองลาดพร้าวมีบ้านเรือนสร้างรุกล้ำเข้ามาในเขตคลอง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ แม้ว่าตอนนี้ภาครัฐจะเข้ามาช่วยสร้างบ้านประชารัฐประมาณ 3,000 หลัง สร้างระบบการระบายน้ำที่ดีและเหมาะสมแล้วเป็นบางส่วน แต่ยังพบปริมาณขยะจำนวนมาก

เจมส์ สกอทท์ ผอ. มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย
เจมส์ สกอทท์

“จึงสอดคล้องกับภารกิจของมูลนิธิในการจัดการกับความท้าทายในการรวบรวมและรีไซเคิลขยะ ผ่านการหาแนวทางการแก้ไขที่เน้นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นสำคัญเพราะตรงกับเป้าหมายของพันธมิตรอย่างมูลนิธิโคคา-โคลา และโครงการ Benioff Ocean Initiative อีกด้วย โดยมูลนิธิมุ่งมั่นที่จะผลักดันการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในประเทศไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิลมากขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนให้ได้ในที่สุด อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว”

“เจมส์ สกอทท์” กล่าวต่อว่า แนวทางการผลักดันเริ่มจากชุมชนคลองลาดพร้าว ด้วยการสนับสนุนให้คนในพื้นที่ทำงานในโครงการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และช่วยกันเป็นกระบอกเสียงชุมชนให้ทิ้งขยะถูกที่ พร้อมกับช่วยกันคัดแยกขยะเพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพวกเขาด้วย ขณะนี้มีชุมชนที่เข้าร่วมแล้ว 9 คน ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยเฉพาะภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และผู้นำชุมชน เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการจะมีความยั่งยืนและสามารถดำเนินการไปได้ในระยะยาว

Advertisment

“สำหรับเครื่องดักขยะที่ติดตั้งจำนวน 2 เครื่องในคลองลาดพร้าว เป็นเครื่องที่มูลนิธิร่วมกับพาร์ตเนอร์ผลิตในไทย โดยมีต้นทุนการผลิตเครื่องละ 2.5 แสนบาทลักษณะการออกแบบจะให้ตัวเครื่องมีส่วนแขนที่สามารถกางและยืดออกไปได้ยาวตามพื้นที่ ภายใต้แขนจะประกอบด้วยครีบที่จะสามารถช่วยดักจับขยะได้มากขึ้น”

“ทั้งยังมีความทนทาน สามารถดักจับขยะได้ถึงวันละ 1 ตัน และเครื่องจะทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ตัวเครื่องสามารถดักขยะในระยะทางประมาณ 12 กม. ประมาณ 50 ตัน หรือ 50,000 กก. โดยมีปริมาณขยะที่เก็บได้สูงสุดมากกว่า 2,000 กก./วัน แบ่งเป็นขยะที่รีไซเคิลได้ 20-30% ในจำนวนนี้ไม่รวมขยะอินทรีย์ขนาดใหญ่ เช่น ผักตบชวา และกิ่งไม้ ซึ่งขยะที่เก็บได้มากสุด คือ ถุงพลาสติก ควบคู่ไปกับขยะอื่น ๆ เช่น ภาชนะโฟมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ขวดพลาสติก ขวดแก้วจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งถุงขยะมัดอย่างดี”

“หลังจากรวบรวมขยะจะนำไปตากให้แห้งและคัดแยกในสถานที่คัดแยกเขตลาดพร้าว ท้ายที่สุดขยะที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยตลอดกระบวนการทำงานจะมีการบันทึกปริมาณและประเภทของขยะที่เก็บรวบรวมอย่างถี่ถ้วน เพื่อนำไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาโครงการการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชุมชนริมคลองต่อไป”

“ดังนั้น ในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้คาดว่าจะมีการดักจับขยะและจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทางโครงการจะคอยประเมินระบบทำงานเครื่องดักขยะเพื่อเป็นแนวทางในอนาคตที่จะทำงานร่วมกับนักศึกษาเพื่อพัฒนาตัวเครื่องให้มีประสิทธิภาพและดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นโมเดลให้กับคลองอื่น ๆ และหลังจากโควิด-19 หายไปจะเดินหน้าขยายสู่องค์กรที่สนใจในการจัดการขยะ รวมถึงพัฒนางานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อนำขยะไปรีไซเคิลสำหรับใช้งานใหม่ต่อไป”

ตุ้ม ปิโย
ตุ้ม ปิโย

ขณะที่ “ตุ้ม ปิโย” หัวหน้าหน่วยเก็บขยะทางน้ำ หน่วยลาดพร้าว 56 กลุ่มงานบำรุงรักษาคลอง 1 กองระบบคลอง สำนักการระบายนํ้า กรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า คลองลาดพร้าวเป็นหนึ่งในคลองสายหลักของกรุงเทพมหานคร มีระยะกว่า 20 กิโลเมตร จากปากคลองลาดพร้าวยาวไปจนถึงคลองสองสายใต้ที่เผชิญปัญหาเกี่ยวกับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศอย่างปัญหาอุดตันของท่อระบายน้ำที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเมือง ตลอดจนปัญหาการรั่วไหลของขยะจากแม่น้ำลำคลองลงสู่มหาสมุทร

“ปัจจุบันหลายองค์กรในประเทศไทยต่างช่วยกันเดินหน้าหาแนวทางแก้ไขเพื่อลดปัญหาขยะที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทางสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีความยินดีและให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวของมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ในโครงการทดสอบวางเครื่องกับดักขยะครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนแก่คลองในกรุงเทพมหานคร พร้อมกับช่วยบรรเทาวิกฤตระดับโลกให้ประสบความสำเร็จ”

นับเป็นภารกิจที่ท้าทายไม่น้อยทีเดียว