CMMU เรียน เปลี่ยน ธุรกิจ เปิดหลักสูตร “ธุรกิจสุขภาพ”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์คณบดีคนใหม่ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU “รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม” ถึงวิสัยทัศน์ที่ว่า “มหิดล” ต้องเป็น “มากกว่า” มหาวิทยาลัยกับคอนเซ็ปต์ The Future of Business “เรียน เปลี่ยน ธุรกิจ” เธอเริ่มอธิบายให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจที่จะต้องมองบริบทใหญ่ให้เห็นภาพก่อนว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั่วโลก

รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU

อย่างภาพแรกที่เห็นได้ชัด คือ โครงสร้างของอำนาจประเทศต่าง ๆ ในโลกที่เปลี่ยนไป อย่างเช่น ในเอเชียที่จะเริ่มเห็นว่าเริ่มก้าวขึ้นมาทันกับประเทศสหรัฐอเมริการวมถึงประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากตัวเลขการเติบโตของ GDP จำนวนประชากรและการลงทุนด้านเทคโนโลยี

เมื่อโครงสร้างของประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนไป ได้ส่งผลให้ “ecosystem” ของธุรกิจเปลี่ยน และยังส่งผลให้ “ecosystem” หรือระบบนิเวศของสิ่งต่าง ๆ ในระบบให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อีกทั้งในอนาคตยังมีการคาดการณ์ว่าในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ประชากรโลกกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกมาก และในจำนวน 60% ของประชากรรวมส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง

โลกจริง-ออนไลน์แยกไม่ออก

ขณะที่อีกด้านของโลกมีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ก็ยังมีสังคมผู้สูงวัย (aging society) มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าประชากรที่เพิ่มขึ้นของโลกมาจาก 2 ฝั่ง และมีความแตกต่างกันของ generation จะเกิดขึ้นด้วย มาดูที่สังคมออนไลน์ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างสูงมากด้วย

การพัฒนาดังกล่าวได้ทำให้โลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์เริ่ม “แยกไม่ออก” ดังนั้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชากรบนโลกก็จะเปลี่ยนไป รวมไปถึงวิธีการเรียนรู้ในเรื่องของการศึกษาก็จะเปลี่ยนไปด้วย

Advertisment

ถามว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างไร “รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม” บอกว่า จากการเปลี่ยนแปลงของโลกข้างต้นนั้นพบว่าธุรกิจทั้งหมดต้อง “ปรับตัว” เมื่อคนเพิ่มขึ้น การแข่งขันก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ฉะนั้น คำถามคือ ใครที่จะเป็นผู้หาคำตอบได้ “เร็ว” และ “ถูกต้อง” การได้เปรียบในการแข่งขัน เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่มี impact กับธุรกิจ

ทักษะใหม่-โอกาสใหม่

ดังนั้น ภาพ CMMU ในวันนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง “รศ.ดร.วิชิตา” ระบุว่า ผลกระทบต่าง ๆ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ทักษะใหม่” บางทักษะแม้จะเคยมีอยู่ก่อนแล้ว แต่อาจจะต้องมา “เน้นย้ำ” หรือ “เพิ่มเติม” สำหรับความต้องการของภาคธุรกิจนั้นเกี่ยวข้อง 2 ประเด็น คือ 1) การคิดเชิงวิเคราะห์ (critical thinking) และ 2) การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ (problem solving)

และเรื่องที่ต้องเพิ่มเติม คือ การนำทักษะในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ หรือที่เรียกว่า “digital literacy” รวมถึงศาสตร์ที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ หรือ “data analytics” จาก big data มาใช้เพื่อช่วยในการทำธุรกิจหรืออาจจะด้วยวัตถุประสงค์อื่น ๆ

“ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในเรื่องของทักษะการคิดและการเรียนรู้ หากเป็นเรื่องของพื้นฐานการรับรู้ (perception) การสนใจ ความจำ ภาษา ความคิด แต่ในโลกยุคปัจจุบันนั้นเราไม่สามารถอยู่เฉพาะในทักษะการคิดและการเรียนรู้เท่านั้น ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าทักษะในการ “หาโอกาส” และปรับเปลี่ยนความคิดไปตามบริบทหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้”

Advertisment

“รศ.ดร.วิชิตา” ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ว่า เวลาที่ขับรถยนต์ในช่วงที่จะเปลี่ยนเกียร์นั้นจะมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ช่วยในการตัดสินใจ คือ ระดับถนน ความแออัดของรถยนต์บนท้องถนน เป็นอย่างไร เพื่อให้เดินทางถึงที่หมายได้เร็วและมีประสิทธิภาพผู้ที่โดยสารมาด้วยก็มีความสุข เพราะการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทเหล่านั้น ตามมาด้วยแนวคิดในการบริหารจัดการตัวเอง (self management)

“แต่ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนจะต้องเข้าใจตัวเองก่อน เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ ไม่ว่าปัญหาจะเป็นสิ่งเก่าหรือสิ่งใหม่ หรือสิ่งที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน CMMU จึงต้องเพิ่มทักษะในส่วนของผู้ที่เข้ามาเรียนกับ CMMU แม้กระทั่ง CMMU เองก็ต้องปรับใน 2 อย่าง คือ inside out & outside in

อย่างแรกคือ จากภายในสู่ภายนอก แน่นอนว่า CMMU จะต้องสร้างบรรยากาศ รวมไปจนถึงวัฒนธรรมในการเรียนรู้ และบางอย่างที่ได้เน้นย้ำและพยายามจะสร้าง learning journey ให้ตรงกับ learner style ด้วย” รศ.ดร.วิชิตากล่าว

ปรับสอนตามสถานการณ์

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีการพัฒนาการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ฉะนั้น ในช่วงที่ผ่านมาก็นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการสอนออนไลน์ได้ทันที โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก CMMU ใช้การเรียนออนไลน์ 100% เมื่อสถานการณ์ปกติก็ใช้การสอนในชั้นเรียนตามปกติได้

“เป็นเพียงไฟต์บังคับในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ถือว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่โหมด delivery ของ learning journey ด้วยการใช้วิธีบันทึกด้วยระบบวิดีโอเท่านั้น CMMU ใช้วิธีการ blended การเรียนออนไลน์ไม่ใช่แค่เพียงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนเท่านั้น แต่จะต้องเปลี่ยนทุกอย่างวิธีการสอน ตัวอาจารย์ผู้สอน รวมไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานของการเรียนการสอนก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ดังนั้น CMMU มองว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่งที่ดี การเรียนออนไลน์ถือเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับผู้เรียน และยังสามารถปรับให้เข้ากับสไตล์ของแต่ละคน”

ในปี 2564 นี้วิทยาลัยการจัดการมีหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 17 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโท ทั้งภาษาไทยและนานาชาติรวม 15 หลักสูตร และหลักสูตรปริญญาเอก นานาชาติ อีก 2 หลักสูตร มุ่งให้ผู้เรียนได้ยกระดับศักยภาพตนเอง อาทิ เช่น หลักสูตรการจัดการมหาบัณทิต สาขาการจัดการธุรกิจ (Business Management) สาขาการจัดการและกลยุทธ์ (Management and Strategy)

สาขาการตลาด (Marketing) สาขาการเงิน (Finance) เป็นต้น โดยจะได้เรียนรู้จากทั้งประสบการณ์ตรง จากนักบริหารตัวจริงในองค์กรระดับแนวหน้า เพื่อให้พร้อมกับการเป็นนักบริหารมืออาชีพ เช่น BM&HO Talk กับ Speaker ผู้บริหารระดับประเทศอย่าง SCG SHOOPEE IKEA DHL และในกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล

“รศ.ดร.วิชิตา” ระบุเพิ่มเติมถึงครู-อาจารย์ของ CMMU จะต้องมีคุณสมบัติอย่างแรก คือ มีความทันสมัย และสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไม่ว่ารูปแบบในการสอนในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม รวมถึงการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระบบออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตามในอนาคต

สำหรับ CMMU มีเป้าหมายสูงสุดคือ นักเรียนจะต้องนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในอนาคต อีกทั้ง CMMU พร้อมที่จะสนับสนุนอาจารย์ทุกคนในแต่ละด้าน ยกตัวอย่างเช่น การบริการทางวิชาการ บรรยากาศการทำงานภายใน การวิจัย ฯลฯ เพื่อที่จะนำไปสู่การยกระดับทั้งหมดของ CMMU ได้

“มหิดล” รุกปั้นหมอเป็นนักบริหาร

“ผศ.ดร.ธนพล วีราสา” ประธานหลักสูตรภาษาไทย ปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เตรียมเปิดหลักสูตร “Health Business Management” ระดับปริญญาโท รุ่นแรกภายในปี 2564 นี้ เนื่องจากหากประเมินจากสถานการณ์ในปัจจุบันจะพบว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจสุขภาพมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ผศ.ดร.ธนพล วีราสา ประธานหลักสูตรภาษาไทย ปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

อีกทั้งประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นด้วย หลักสูตรนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและมองเห็นโอกาสในธุรกิจด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบด้วยกลยุทธ์และการวางแผนที่ดีบริหารจัดการต้นทุน บุคลากร การเงิน องค์กร รวมถึงเทคโนโลยีและพัฒนาตลาดได้มากขึ้น

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวในรุ่นแรก 30 คน รูปแบบการสอนจะมุ่งเน้นการเชื่อมต่อโลกการแข่งขันด้วยความรู้เชิงปฏิบัติ (practical learning) ด้วยมาตรฐานวิชาการระดับนานาชาติ สอดคล้องกับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมและสนใจในธุรกิจความงาม การทำครีม น้ำแร่ รวมไปจนถึงอาหารเสริมหรืออาจจะคิดค้นผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

พร้อมที่จะต่อยอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ อีกทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศให้เป็น Thailand medical hub

“หลักสูตรใหม่นี้ค่อนข้างมีความสำคัญมาก เพราะต่อจากนี้ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ และรัฐบาลก็มีนโยบาย medical hub ไว้อย่างชัดเจน ทำให้ชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ยุโรป ตะวันออกกลาง เดินทางมาพำนักหรือรักษาพยาบาลในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย นับเป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น สถานบริการเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง เภสัชภัณฑ์ รวมถึงสถานดูแลผู้ป่วยสูงอายุ และเครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น

“ผศ.ดร.ธนพล” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าเดิมทีหลักสูตรในมหาวิทยาลัยจะเน้นการผลิตแพทย์เพื่อออกไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือดูแลองค์กร แต่แพทย์เหล่านั้นไม่มีทักษะด้านการบริหารจัดการจึงตัดสินใจพัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้นมา โดยหลักสูตรนี้จะรับนักศึกษาที่เรียนจบระดับปริญญาตรี และอีก 1 ปีมาเรียนกับ CMMU

นักศึกษาแพทย์ที่ CMMU ต้องการให้เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ต้องมีมุมมองที่ดีต่อวิชาชีพแพทย์ด้วยที่สำคัญคือการแก้ปัญหาสาธารณสุขไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง แต่มันคือความรับผิดชอบของประชากรทั้งโลกที่ต้องร่วมมือกัน