เอกสารฝรั่งเศสชี้ คนปารีส ‘ตั้งตาคอย’ คณะทูตสยาม แต่ไม่ค่อยออกจากห้อง เหตุเจอหนาวพอหิมะตกเอาจานไปตัก

ส่วนหนึ่งของปฏิทิน ค.ศ.1687 แสดงถึงเหตุการณ์ครั้งสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส

หลังจากดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์  เหตุบ้านการเมืองของสยามในละครบุพเพสันนิวาสจากมุมมองของคนฝรั่งเศส (ตอนที่ 1) เผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว  แปลและเรียบเรียง หนังสือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและสยามในระหว่างปี ค.ศ. 1680 ถึง 1907 (พ.ศ. 2223 ถึง 2450) ซึ่งเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส ของกับตันโซเว่ โดยหนังสือเล่มดังกล่าวได้รวบรวมเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและสยามโดยอ้างอิงจากเอกสารภาษาฝรั่งเศสที่เขียนขึ้นทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์และภายหลังจากนั้น  ในตอนที่ 1 ไฮไลต์สำคัญคือเรื่องราวของคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constance Phalkon) เขียนทอ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม อัยการธนกฤต เผยแพร่  ” เหตุบ้านการเมืองของสยามในละครบุพเพสันนิวาสจากมุมมองของคนฝรั่งเศส (ตอนที่ 2)” ความตอนหนึ่งว่า

ความชื่นชมที่สมเด็จพระนารายณ์มีต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้เพิ่มพูนมากขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อแสดงความปรารถนาดีที่มีต่อฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ได้แจ้งต่อมองเซนเยอร์ปัลลือ สังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส ว่าพระองค์ประสงค์ที่จะมอบท่าเรือในสยามให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้ใช้ในการก่อสร้างเมืองของฝรั่งเศส อีกทั้งพระองค์ได้เตรียมการที่จะส่งคณะราชทูตของสยามไปฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้พระองค์ต้องการจะให้ฝรั่งเศสเข้ามาช่วยเหลือยับยั้งการรุกรานจากฮอลันดา ซึ่งแสดงความหิวกระหายใคร่อยากได้ท่าเรือหลายแห่งในสยาม แต่เนื่องจากในขณะนั้นมีสงครามระหว่างฝรั่งเศสและฮอลันดาเกิดขึ้น พระองค์จึงต้องรอจนมีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกนิแมกยว์ระหว่างฝรั่งเศสและฮอลันดาในปี ค.ศ. 1678 (พ.ศ. 2221) เสียก่อน จึงได้มีการส่งราชทูตไปฝรั่งเศสตามแผนการที่วางไว้ (นิแมกยว์ในภาษาฝรั่งเศสหรือไนเมเคินในภาษาดัตซ์เป็นชื่อเมืองที่ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน)

สมเด็จพระนารายณ์ได้ส่งคณะราชทูตของสยามคณะแรกไปยุโรปในช่วงสิ้นปี ค.ศ. 1680 (พ.ศ. 2223) พร้อมกับราชบรรณาการอันล้ำค่าและราชสาสน์ 2 ฉบับ เพื่อถวายแด่พระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ประสงค์ยกบางกอกและเมืองมะริดให้ฝรั่งเศสปกครองดูแลเพื่อขอให้ฝรั่งเศสเข้าขัดขวางแผนการรุกรานสยามของฮอลันดา แต่เรือที่คณะราชทูตสยามโดยสารไปด้วยได้อับปางลงที่ฝั่งทะเลตอนเหนือของมาดากัสการ์เนื่องจากมีพายุลมแรง ทำให้ผู้คนบนเรือสูญหายไปหมด ซึ่งอยุธยายังไม่ทราบข่าวร้ายนี้ และข่าวคราวที่เงียบหายไปของคณะราชทูตเป็นเวลานานได้สร้างความกังวลใจให้แก่ราชสำนักสยาม สมเด็จพระนารายณ์จึงได้ส่งคณะราชทูตเป็นคณะที่สอง (ประกอบด้วยขุนพิไชยวาณิชและขุนพิชิตไมตรี) ไปยังฝรั่งเศสในตอนต้นปี ค.ศ. 1684 (พ.ศ. 2227) เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสและสืบหาข่าวคราวของคณะราชทูตคณะแรก

การเดินทางมาฝรั่งเศสของคณะราชทูตจากสยามในครั้งนี้เป็นที่สนอกสนใจตั้งตารอคอยของชาวปารีส แต่ด้วยอากาศที่เหน็บหนาว ทำให้ระหว่างพำนักอยู่ในปารีส คณะราชทูตจากสยามแทบจะไม่ออกไปไหนเลย ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอยู่แต่ในที่พัก ทำให้ชาวปารีสที่ใคร่อยากรู้อยากเห็นรู้สึกผิดหวังไปตาม ๆ กัน จะเห็นคณะราชทูตสยามก็เฉพาะแต่ตอนรับประทานอาหารเย็น และดูเหมือนกับว่าคณะราชทูตสยามจะหาความรื่นรมย์จากการสนทนาพูดคุยกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พวกเขาอาจจะรู้สึกว่าการพูดมากเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ซึ่งคงจะเป็นเพราะพวกเขาคุ้นเคยกับบรรยากาศความเงียบในราชสำนักสยาม ที่แต่ละคนอยู่รวมกันอย่างเงียบสงัดราวกับอยู่ในโบสถ์วิหาร ในตอนต้นปี ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) มีหิมะตกลงมาอย่างหนักเต็มไปหมด นี่เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคณะราชทูตจากสยาม พวกเขานำเอาจานมาตักหิมะไปพินิจพิจารณาดู และคงจะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้คณะราชทูตจากสยามมากที่สุดตั้งแต่มาอยู่ในฝรั่งเศส