เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องแต่งกายสมัยอยุธยา หรูหราไม่น้อยหน้าใคร

เราเคยได้เห็นภาพเครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ของกษัตริย์และเจ้านายสมัยอยุธยามาบ้างในหนัง ละคร หรือในหนังสือ ซึ่งทำขึ้นมาจากแบบในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บ้างก็ใกล้เคียง บ้างก็ไม่ใกล้เคียงเลย
 
ถ้าใครสนใจอยากเห็นของจริงที่หลงเหลือรอดพ้นกาลเวลา และของทำเลียนแบบที่ใกล้เคียงของจริง สามารถไปชมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ซึ่งขณะนี้กำลังจัดนิทรรศการ เครื่องเงิน-เครื่องทอง และเครื่องแต่งกายในสมัยอยุธยา เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม ความนิยมตามขนบประเพณีและวัฒนธรรมสมัยอยุธยาที่มีรูปแบบต่างกัน โดยอ้างอิงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาศัยข้อมูลจากเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร
 
ต่างราชวงศ์ต่างรูปแบบศิลปกรรม
 
อ.เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและวัฒนธรรมไทย ให้ข้อมูลภาพกว้างว่า กรุงศรีอยุธยามีราชวงศ์ปกครองถึง 5 ราชวงศ์ มีกษัตริย์ถึง 34 รัชกาล และมีความผันผวนทางการเมืองการปกครองพอสมควร แต่ละราชวงศ์มีสายพระราชมารดา หรือสายแผ่นดินแม่ หรือสายราชมาตุภูมิ ที่เป็นแดนกำเนิดปฐมวงศ์ ซึ่งการสร้างสรรค์รูปแบบเครื่องแต่งกายในแต่ละราชวงศ์นั้นได้รับอิทธิพลมาจากแผ่นดินแม่ของแต่ละราชวงศ์
 
ราชวงศ์อู่ทอง สันนิษฐานว่ามีสายราชมาตุภูมิมาจากละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกัมพูชา ฉลองพระองค์ของกษัตริย์ราชวงศ์อู่ทองจึงน่าจะได้รับอิทธิพลเขมร และมีเอกสารจากบันทึกของนักเดินทางชาวต่างชาติที่กล่าวถึงคนอยุธยาตอนต้นว่า มีการไว้ผมมวย การนุ่งโจงกระเบนหยักรั้งสั้น ซึ่งในปัจจุบันมีการค้นคว้าและนำมาวิเคราะห์รูปแบบการแต่งกายสมัยอยุธยามากขึ้น
 
ราชวงศ์ที่ 2 ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มาจากแถบจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วแต่งงานกับราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิปกครองยาวนานเกือบ 200 ปี ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีการผสมผสานกับราชวงศ์อู่ทองในช่วงต้น ช่วงกลางผสมผสานกับราชวงศ์พระร่วง และในช่วงปลายแต่งงานกันเองในราชวงศ์ ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองอยุธยา เพราะฉะนั้น เครื่องแต่งกายในราชวงศ์สุพรรณภูมิจึงมีความหลากหลายมาก
 
ราชวงศ์ที่ 3 ราชวงศ์พระร่วง สืบสายพระราชมาตุภูมิมาจากล้านนา เครื่องแต่งกายในราชวงศ์พระร่วงจึงมีอิทธิพลมาจากล้านนา
 
ราชวงศ์ที่ 4 ราชวงศ์ปราสาททอง มีการผสมผสานกันขององค์ปฐมวงศ์ พระราชบิดาองค์ปฐมวงศ์เป็นราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระราชมารดาเป็นราชวงศ์พระร่วง ฉะนั้น แรงบันดาลใจในช่วงต้นมีการผสมผสานกันระหว่างรูปแบบการแต่งกายของสุพรรณบุรีกับล้านนา
 
ราชวงศ์ที่ 5 ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ไม่มีสายพระราชมาตุภูมิที่เป็นเจ้านายจากราชวงศ์ก่อน ๆ องค์ปฐมวงศ์เป็นสามัญชนธรรมดา เพราะฉะนั้น รูปแบบเครื่องแต่งกายมีความผสมผสานกันแบบความเป็นพื้นถิ่นอยุธยาอย่างมาก นอกจากนั้น รูปแบบของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายได้ส่งอิทธิพลมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างชัดเจน เพราะงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ งานศิลปกรรมที่มาจากอยุธยาอย่างแท้จริง
 
เครื่องทองเครื่องเงินหลากรูปแบบ สะท้อนความรุ่งเรือง
 
ส่วนเครื่องทอง เครื่องเงิน และเครื่องประดับในสมัยอยุธยา ศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา บอกว่า เครื่องทองในสมัยอยุธยาพบจำนวนมากที่กรุวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นกรุที่สำคัญมาก เป็นกรุฝังสมบัติของเจ้าสามพระยา
 
ในสมัยอยุธยามีการใช้ทองคำทำงานศิลปกรรมหลายรูปแบบมาก โดยเฉพาะเครื่องทองที่พบในกรุวัดราชบูรณะ เป็นเครื่องทองของพระมหากษัตริย์ มีทั้งเครื่องราชูปโภค ถนิมพิมพาภรณ์ ของที่ทำเพื่อถวายทางพระพุทธศาสนา และพบเหรียญไซนุลอาบิดีน กษัตริย์เปอร์เซียที่เป็นยุคเดียวกันกับสมเด็จเจ้าสามพระยา ทำให้ทราบว่ามีการติดต่อค้าขายระหว่างอยุธยาและอาหรับในสมัยอยุธยาตอนต้น
 
จากการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาได้ดำเนินการศึกษาเครื่องทองกรุวัดราชบุรณะ สามารถแบ่งเครื่องทองออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
 
1.พระพุทธรูป ซึ่งส่วนใหญ่สร้างจากทองและเงิน แบ่งได้ตามลักษณะ คือ พระหล่อจากทองคำ พระพิมพ์ พระดุน และพระบุ
 
2.ถนิมพิมพาภรณ์ คือ เครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีเทคนิคที่แยบยลมาก ทำด้วยมือทั้งหมด จากการศึกษาทดสอบโดยกระบวนการวิทยาศาสตร์ว่าเครื่องทองที่พบเป็นทองคำแท้หรือไม่ พบว่า ทองของกรุวัดราชบุรณะมีความบริสุทธิ์ 25.8 ส่วนทองวัดมหาธาตุ 24.7 นอกจากนั้นมีข้อค้นพบใหม่ทางวิชาการจากการทดสอบครั้งนี้ คือพบว่าในเครื่องทองเหล่านั้นมีส่วนผสมบางอย่างที่ไม่มีในประเทศไทย
 
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาบอกอีกว่า เครื่องราชูปโภคที่พบในกรุวัดราชบุรณะ เป็นหลักฐานว่าอยุธยาได้รับอิทธิพลจากละโว้มาเยอะมาก และโบราณวัตถุบางส่วนบ่งบอกว่าอยุธยามีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศจริง นอกจากนั้นในการศึกษาทองที่แยกส่วนพบว่า มีโบราณวัตถุที่แปลกประหลาดยังไม่สามารถจะบ่งบอกได้ว่าคืออะไรอีกจำนวนมาก
 
เครื่องแต่งกาย ยิ่งยาวยิ่งหรูหรา
 
ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลว่า จากเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นพบว่า เครื่องแต่งกายสมัยอยุธยามีความหลากหลายมาก เพราะกรุงศรีอยุธยากินระยะเวลายาวนาน และมีวัฒนธรรมจากที่ต่าง ๆ เข้ามา อยุธยาถือเป็นเบ้าหลอมของวัฒนธรรมนานาอารยประเทศ อย่างในสมัยราชวงศ์อู่ทอง วัฒนธรรมหลักมาจากละโว้ คือยึดเกี่ยวกับความเป็นเขมร เมื่อมีวัฒนธรรมอื่นไหลเข้ามาจึงเกิดการผสมผสานกัน หลอมรวมแล้วกลายเป็นแบบฉบับของอยุธยา
 
รูปแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสมัยอยุธยามีความยาวกรุยกราย เนื่องจากมีรากจากอินเดียและเขมร ซึ่งสะท้อนความรุ่งเรืองของศิลปะสมัยอยุธยา สะท้อนความหรูหราในยุคสมัยนั้นที่ได้วัสดุต่างถิ่นมา และยิ่งยาวกรุยกรายมากเท่าไหร่ ยิ่งถือว่ารวยกว่า
 
ผศ.ดร.กิตติกรณ์บอกอีกว่า เครื่องทองกับเครื่องแต่งกายค่อนข้างจะเป็นเรื่องเดียวกัน ลวดลายกระบวนท่าบางอย่างในเสื้อผ้าส่งผลไปถึงเครื่องทอง เครื่องประดับ จากที่เคยปักดอกไม้เพื่อความสวยงาม ก็มีคนคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดอกไม้อยู่ได้ยาวนาน เกิดเครื่องทองลวดลายต่าง ๆ ซึ่งยึดกระบวนลายมาจากลายผ้า
 
“นิทรรศการนี้จะเหมือนเรามองย้อนกลับไปดูว่า สมัยก่อนคนเขาอยู่กันอย่างไร หรือเขามีแรงบันดาลใจ มีความคิดอย่างไร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเป็นเรื่องต้นที่ทำให้เรามองย้อนกลับไปแล้วทำความเข้าใจว่า อยุธยาไม่ได้เกิดมาแล้วเป็นอยุธยาในทันที แต่อยุธยามีราก มีดีเอ็นเอ ซึ่งนิทรรศการนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า ดีเอ็นเอรากที่ 1 มาจากไหน รากที่ 2 ที่ 3 มาจากไหน และให้เห็นว่าการหลอมรวมสุดท้ายแล้วเป็นอย่างไร” ผศ.ดร.กิตติกรณ์บอก
 
ใครที่สนใจเนื้อหาจัดเต็มกว่านี้ สามารถไปชมนิทรรศการได้ที่หอสุพรรณ-พัสตร์ ชั้น 2 อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เวลา 08.00-17.00 น. เปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย