คอนเสิร์ต “บทเพลงสองแผ่นดิน” ฉลองความสัมพันธ์ 130 ปี ไทย – ญี่ปุ่น

ไทยและญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีงามและมั่นคงมาอย่างยาวนาน ในโอกาสที่ความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 130 ปี ในปีนี้ สถานทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้จัดงานเพื่อเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ โดยเลือกดนตรีเป็นสื่อประสานฉลองความสัมพันธ์ทางการฑูต นานกว่าศตวรรษครั้งนี้ โดยสถานทูตไทยประจำกรุงโตเกียวได้ร่วมกับวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า (RBSO – Royal Bangkok Symphony Orchestra) จัดการแสดงคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ “บทเพลงสองแผ่นดิน” ณ. Suntory Hall หนึ่งในหอแสดงดนตรีคอนเสิร์ตระดับโลกซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว โดยมี ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นประธานเปิดการแสดงไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

งานนี้ ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ “ซีฮีโอฝรั่งหัวใจไทย” ประธานมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ และประธาน บี.กริม ซึ่งให้การสนับสนุนดนตรีคลาสสิคในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง นำนักดนตรีจากวง RBSO กว่า 100 ชีวิตพร้อมทีมงานและเครื่องดนตรีบินลัดฟ้าจากเมืองไทยไปร่วมงานอย่างภาคภูมิใจ ดร. ลิงค์ กล่าวว่า “ดนตรีคลาสสิคเป็นศิลปะการดนตรีที่งดงาม ประเทศที่เจริญแล้วทุกประเทศ ล้วนต้องมีวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าเป็นของตัวเอง การที่วง RBSO ได้รับเชิญให้มาแสดงที่ประเทศญี่ปุ่นในวาระพิเศษครั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของนักดนตรีทุกคน ทำให้ชาวต่างชาติที่มาชมการแสดงได้รู้จักดนตรีคลาสสิคของประเทศไทยมากขึ้น ถ้าดนตรีคลาสสิคในบ้านเราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ผมมั่นใจว่า เราจะสามารถยกระดับและพัฒนานักดนตรีของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก”


ค่ำคืนของการแสดงคอนเสิร์ตเพื่อสานสัมพันธไมตรีอันดีงามระหว่างไทยและญี่ปุ่นโดยวง RBSO ภายใต้การควบคุมวงของ มร. โคจิ คาวาโมโต วาทยากรระดับโลกชาวญี่ปุ่น เริ่มขึ้นด้วยการบรรเลงบทเพลง Serenity อันไพเราะที่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงเป็นครีอีทีฟ ไดเรคเตอร์ บทเพลงนี้ ทรงใช้ประกอบการแสดงแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ในคอลเลคชั่น Spring/Summer 2017 ที่ผ่านมา ต่อด้วยการแสดงดนตรีของสองศิลปินชาวไทย คือ ภูมิ พรหมชาติ นักเปียโนดาวรุ่งชาวไทยที่กำลังก้าวไกลระดับโลก กับการเล่น เปียโนคอนแชร์โต No. 1 ของโชแปง ตามด้วย กิตตินันท์ ชินสำราญ นักร้องเสียงเบสบาริโทนชาวไทยที่มีผลงานการแสดงทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา กับการขับร้องบทเพลง The Trumpet Shall Sound ซึ่งประพันธ์โดย แฮนเดิล คีตกวีชาวเยอรมัน

ไฮไลท์ของการแสดงคอนเสิร์ต “บทเพลงสองแผ่นดิน” ครั้งนี้ คือ การนำบทเพลงชื่อ Fantasia on Themes of His Majesty King Bhumibol Adulyadej ซึ่งอันเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ประกอบด้วยเพลง แสงเดือน (Magic Beams), แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart), แว่ว (Echo), ค่ำแล้ว (Lullaby), สายฝน (Falling Rain), ลมหนาว (Love in Spring), ชะตาชีวิต (H.M. Blues) และไกลกังวล (When) ที่ได้รับการเรียบเรียงโดยศิลปินนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น โนริโอะ มาเอดะ มาบรรเลงอย่างไพเราะอีกครั้งโดยวง RBSO

ปิดท้ายการแสดงคอนเสิร์ตอย่างยิ่งใหญ่ครั้งนี้ด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ “ยวนยาเหล” ตามด้วย “สุกี้ยากี้” เพลงฮิตที่คุ้นหูชาวไทยและชาวญี่ปุ่นซึ่งสื่อถึงสัมพันธภาพและความผูกพันที่ยาวนานของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี การแสดงคอนเสิร์ต “บทเพลงสองแผ่นดิน” ฉลองความสัมพันธ์ 130 ปี ไทย – ญี่ปุ่น ครั้งนี้ นับเป็นงานดนตรีที่งดงามประสบความสำเร็จ ได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากผู้ชมทั้งชาวไทยและญี่ปุ่นที่มาร่วมชมการแสดง