okja หนังดีกระแสแรง ซูเปอร์หมูกระชากหน้ากากทุนนิยม

โอค จา (Okja) ภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ของผู้กำกับ บง จุน โฮ (Bong Joon-Ho) ถูกจับตามองต่อเนื่องมาสองสามเดือน ตั้งแต่ที่ได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2017 และเป็นหนังที่ถูกจับตามองมากที่สุดในบรรดาหนังเอเชีย 8 เรื่องที่ได้เข้าฉายคานส์ปีนี้ เนื่องจากโอคจาเป็นหนังที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อฉายโรง

แต่เป็นหนังที่ สร้างมาเพื่อฉายในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) โดยตรงประเด็นนี้ถูกยกมาถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมที่คานส์เลือก หนังที่ไม่ได้สร้างมาฉายในโรงเข้าไปฉายและชิงรางวัลในเทศกาล ซึ่งประเด็นนี้เองทำให้โอคจายิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นอีก

อีกประเด็นคือ ตอนแรกบริษัทผู้จัดจำหน่ายหนังได้เจรจานำโอคจาเข้าฉายในโรงหนังในเกาหลีใต้ ด้วย แต่จะฉายพร้อมกับที่เน็ตฟลิกซ์ปล่อยออนไลน์ เรื่องนี้ทำให้บรรดาโรงหนังไม่พอใจ เพราะกระทบต่อธุรกิจโรงหนัง และจะสร้างความปั่นป่วนต่ออุตสาหกรรมการจัดจำหน่าย เครือโรงหนังใหญ่ 3 เครือในเกาหลีใต้ จึงพร้อมใจกันแบนไม่ฉายโอคจา

สรุปว่า ใครอยากดูหนังเรื่องนี้ (อย่างถูกลิขสิทธิ์) ก็ต้องดูทางเน็ตฟลิกซ์เท่านั้น

โอคจา เป็นหนังดราม่า/แอ็กชั่น เรื่องราวของเด็กหญิงชาวเกาหลีใต้ที่ใช้ชีวิตอยู่บนเขากับคุณปู่ มีสัตว์เลี้ยงหน้าตาประหลาด ๆ ชื่อ โอคจาเป็นเพื่อนรัก เจ้าสัตว์เลี้ยงตัวนั้นเป็นซูเปอร์หมูที่ถูกสร้างขึ้นมาจากห้องทดลองของ บริษัทอุตสาหกรรมอาหารรายใหญ่ในอเมริกา แล้วส่งลูกหมูทดลองไปให้เกษตรกรในหลายประเทศเลี้ยงเป็นเวลา 10 ปี

เพื่อจะหาว่าวิธีการเลี้ยงหมูแบบไหนที่จะได้หมูที่อุดมสมบูรณ์ให้เนื้อได้มากที่สุด แล้วจะมีการประกวดและโฆษณาเปิดตัวใหญ่โต

พูดง่าย ๆ ว่า การที่คุณปู่ของมิจาได้หมูตัวนั้นมาเลี้ยง เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ R&D ของบริษัทยักษ์ใหญ่รายนั้น พอถึงเวลาที่โอคจาถูกนำตัวไปเพื่อเตรียมส่งกลับไปยังบริษัทแม่ที่อเมริกา มิจาไม่ยอมเสียเพื่อนรักไป เธอวิ่งลงจากเขาอย่างไม่คิดชีวิต นั่งรถไฟเข้าโซลไปตามหาโอคจาจนพบ เด็กไร้เดียงสาตัวคนเดียวจะสู้กับบริษัทใหญ่อย่างไร เพื่อให้ได้เจ้าหมูเพื่อนรักกลับมา

แน่นอนหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็น ความผูกพันระหว่างคนกับสัตว์ที่สื่อสารกันได้ด้วยใจ แบบที่คนอื่นที่ไม่มีความผูกพันกันไม่สามารถสื่อสารได้ แต่เรื่องราวระหว่างที่หนูมิจาออกตามทวงคืนหมูของเธอนั้นตื่นเต้น ชวนลุ้น และเผยให้เห็นความน่ากลัวของมนุษย์ไปในคราวเดียวกัน

อัน ซอ ฮยอน (Ahn Seo Hyun) ผู้รับบทมิจา น่ารักเป็นธรรมชาติมาก การแสดงดูมีอนาคต ในช่วงที่ยังเล่นสนุกสนานกับโอคจา เธอมีแววตาสดใสเปี่ยมด้วยความสุข แต่เมื่อต้องรับมือกับผู้ใหญ่ที่เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว แววตาอันสดใสเปลี่ยนเป็นแข็งกร้าวและเฉยชา และหลังกลับจากอเมริกาก็เปลี่ยนไปอีกแบบ นักแสดงเด็กที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นคนนี้แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ทางอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้ดีผ่านสีหน้าและแววตา อายุเท่านี้ทำได้ขนาดนี้ น่าติดตามผลงานต่อไปของเธอ

นอกจากมิจาซึ่งเป็นตัวละครหลักแล้ว เรื่องนี้ยังมีนักแสดงฝีมือดีอย่าง ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) ในบท ลูซี่ มิรานโด ผู้บริหารบริษัทมิรานโด เจ้าของโปรเจ็กต์ซูเปอร์หมู ที่แสดงความเป็นนักธุรกิจน่าเลือดออกมา ได้ชวนเกลียด อีกคนคือ เจค จิลเลนฮาน (Jake Gyllenhaal) ในบทพิธีกรรายการทีวีที่บริษัทมิรานโดสร้างขึ้นมา เพื่อประชาสัมพันธ์โปรเจ็กต์ซูเปอร์หมู ตัวละครนี้ถูกวางแคแร็กเตอร์มาให้โอเวอร์ น่าถีบมาก ๆ แม้ดูเหมือนว่าหนังเรื่องนี้วางพอยต์ไว้ที่ประเด็นความรักความผูกพันของคนกับสัตว์เลี้ยง เปิดเรื่องขึ้นมาอย่างฟีลกู๊ด

แต่ประเด็นใหญ่ที่หนังต้องการสื่อสารคือ การเปิดโปงอุตสาหกรรมอาหารที่ดัดแปลงพันธุกรรมสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและให้ผลผลิตสูง ซึ่งในโลกความเป็นจริง อุตสาหกรรมอาหารทุกวันนี้ก็มีแนวโน้มจะไปทางนั้น อย่างที่มีข่าวออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าบริษัทในอเมริกาจะผลิตเนื้อสัตว์ที่ เพาะในหลอดทดลองออกมาขายในปีหน้านี้แล้ว

และแม้ว่าจะเป็นหนังที่เสียดสีอุตสาหกรรมอาหาร เสียดสีทุนนิยม แต่หนังก็เสียดสีในระดับกลาง ๆ ไม่ได้จัดจ้าน ถ้าเป็นอาหารก็ไม่เผ็ด แต่ก็ไม่จืด ที่เห็นเสียดสีชัด ๆ ก็น่าจะตรงที่การตั้งชื่อบริษัทสามพยางค์ ที่มีสระอาตรงพยางค์กลางและสระโอเสียงสูงลงท้าย คล้ายบริษัทใหญ่เจ้าแห่ง GMO รายนั้น

หนัง ไม่ได้ทำออกมาในโทนแข็งกร้าวเป็นศัตรูท้าทายอุตสาหกรรมอาหาร และไม่แม้แต่ตัดสินว่าการตัดแต่งพันธุกรรมสัตว์เป็นเรื่องผิดร้อย เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่เปิดโปงให้ผู้บริโภคทราบว่า บริษัทอาหารปกปิดความจริงอะไรไว้บ้าง และเมื่อทราบความจริงแล้ว หลังจากนั้นก็ให้ผู้บริโภคตัดสินใจเอง