สิ้นทมยันตี คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิต

ทมยันตีตาย

คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกาดัง “ทมยันตี” เสียชีวิตแล้ว นักเขียนร่วมไว้อาลัย

วันที่ 13 กันยายน 2564 คุณหญิง วิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา ทมยันตี ศิลปินเเห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 เสียชีวิตแล้ว เบื้องต้นครอบครัวแจ้งว่า นอนหลับไปเฉย ๆ

ด้าน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความว่า สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการจากไปของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี, ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, วัสสิกา, มายาวดี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นักเขียนและกวีหลายท่าน เริ่มแจ้งข่าวนี้ พร้อมเขียนข้อความไว้อาลัย เช่น พินิจ นิลรัตน์, ผาด พาสิกรณ์, มกุฏ อรฤดี ฯลฯ

ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก ล้านนาเทวาลัย สถานที่ที่ คุณหญิงวิมล ใช้เป็นนิวาสสถานแห่งสุดท้ายยามบั้นปลายชีวิต และจะใช้เป็นที่พักผ่อนชั่วนิจนิรันดร์ของตัวเองในภายภาคหน้า โพสต์ข้อความว่า เช้าวันนี้ คุณยาย “ทมยันตี” ท่านจากไปอย่างสงบ กำหนดการพิธี ทางเราจะแจ้งต่อไป ตอนนี้ขอความเป็นส่วนตัว

สัจธรรมเรื่อง “ความตาย”

คุณหญิงวิมลให้สัมภาษณ์นิตยสาร HELLO เมื่อปี 2557 ว่า มีอาการเส้นเลือดตีบ ต้องแอดมิตในโรงพยาบาลจนน้ำหนักลดฮวบ 11 กิโลกรัม เท่ากับจำนวนวันที่อยู่โรงพยาบาล ซึ่งจากการป่วยครั้งนั้นทำให้ฉุกคิดถึงสัจจะวาจาที่เคยให้ไว้ต่อหน้าเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ว่า ก่อนตายจะสร้างเทวาลัยถวาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของล้านนาเทวาลัย ที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่ออัญเชิญเทพและเทวรูปที่นับถือบูชาอยู่ในห้องพระที่บ้านมาประดิษฐานไว้ หลังจากนั้นคุณหญิงวิมลก็ใช้ชีวิตอยู่ที่ล้านนาเทวาลัยตลอด

ในรายงานพิเศษของมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2558 มีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของคุณหญิงวิมล ที่กล่าวถึงสัจธรรมของชีวิต และการเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย ที่จะมาถึงในวันข้างหน้าอย่างมีสติ

“ทุกวันดิฉันจะต้องท่องเดี๋ยวก็ตาย มันจะละ โลภ โกรธ หลง เดี๋ยวก็ตาย ดิฉันอยู่บนเตียงไอซียู รู้ตัวว่าใกล้ตาย ดิฉันรู้เลย พุทโธ สำคัญที่สุด เวลาที่ร่างกายเราแย่ มันจะไปมิไปอยู่รอมร่อ ถ้าเราท่องพุทโธเรื่อย ๆ ให้มันติดอยู่ในความทรงจำ เดี๋ยวมันจะท่องได้เอง ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยตายแล้วค่ะที่โรงพยาบาลศิริราช เคยตายแล้วฟื้นขึ้นมา เมื่อเร็วนี้ ๆ ก็เกือบจะไปอีกหนหนึ่ง เป็นที่รู้กัน แต่ดิฉันอยู่เพื่อที่จะเขียนนวนิยายเล่มสุดท้ายในชีวิต เรื่อง จอมศาสดา”

“ดิฉันบอกกับตัวเองตลอดว่าเดี๋ยวก็ตาย ถ้าคนเรารู้ตัวว่า หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หรือถ้าหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้ามันก็ตาย เมื่อไรคุณดื่มน้ำไม่ลงสักอึก เดี๋ยวก็ตาย ถ้าเรารู้ตัวว่า เดี๋ยวก็ตาย ใครอยากได้อะไร เราก็ให้ ท่องไว้เถอะค่ะ เดี๋ยวก็ตาย มนุษย์เราเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง เวลาที่จะตายมันไม่กี่นาทีหรอก จริงๆ นะ แป๊บเดียวเอง ดิฉันบอกลูกแล้วว่า อย่าร้องไห้ ดิฉันเตรียมแล้ว ที่บ้านดิฉันพูดเรื่องความตายเป็นเรื่องปกติ ลูกยังบอกถ้าแม่ตาย โต๊ะเขียนหนังสือของแม่จะทำแบบนั้นแบบนี้”

“สมัยพ่อยังมีชีวิตอยู่ท่านบอกดูไว้ลูก วันนี้พ่อตาย วันหน้าหนูก็ตาย แล้วลูกของแม่อี๊ดก็ต้องอุ้มแม่อี๊ดลงโลง อย่าร้องไห้ วันนี้เป็นวันของพ่อ ของแม่ ของคุณยาย แต่วันหน้าแม่อี๊ดก็ต้องลงนอนในโลง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องร้องไห้”

นวนิยายจอมศาสดา ตายแล้วค่อยพิมพ์

พูดถึงนวนิยายเรื่องจอมศาสดาที่เจ้าตัวเคยเล่าให้ใครต่อใครฟังเสมอมาว่าจะเขียนแต่ครั้งนี้ประกาศชัดเจนว่าแฟน ๆ จะไม่ได้อ่านตอนที่คนเขียนยังมีชีวิตอยู่ เพราะอะไร ฟังเหตุผลกัน

“เขียนเสร็จตายแล้วค่อยพิมพ์ จะพร่ำบอกลูกชายไว้ว่า ไม่ได้อ่านตอนที่ดิฉันมีชีวิตหรอก เดี๋ยวจะเหมือนเรื่องของ แดน บราวน์ ที่เขียนแล้วมีคนเถียง แต่ถ้าด่าคนตายไม่รู้เรื่อง คนยุ่งอยู่นอกโลง เรานอนในโลงแล้ว มีความสุข”

สำหรับเนื้อหาของเรื่องศาสดานั้น เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า โดยจะไม่มีการนำเอาเรื่องปาฏิหาริย์ไปใส่

“ดิฉันอยากบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชายที่ฉลาดที่สุด คำสอนของท่านเป็นสัจจะทุกคำ ดิฉันเคยบอกยายว่า คนที่มีอายุ 3,000 ปี พูดแล้วต้องผิดสักคำ เถียงยายมาก่อน ยายชี้หน้า อีอี๊ด ไปหามา พระพุทธเจ้าพูดคำไหนผิด ตั้งแต่นั้นมาตอนอายุ 10 กว่าขวบ ดิฉันอ่านหนังสือหมดเป็นวัน ๆ เพื่อที่จะเอาชนะยาย หาว่าพระพุทธเจ้าพูดอะไรผิดคำเดียวเท่านั้นแหละ จนกระทั่งยายตายไปแล้ว ตัวดิฉันเองใกล้จะตายแล้วก็ยังหาไม่เจอสักคำ นี่คือ ความเก่งของท่าน”

“ดิฉันพูดกับคุณหญิงพูนพิศมัย ว่า ดิฉันรักพระพุทธเจ้า ชีวิตดิฉันมาจนถึงขนาดนี้ ทำอะไรได้ถึงขนาดนี้ เพราะดิฉันเชื่อพระพุทธเจ้า”

ประวัติ วิมล ศิริไพบูลย์

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า คุณหญิง วิมล ศิริไพบูลย์ ชื่อเล่นว่า อี๊ด เกิด 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จังหวัดพระนคร เป็นลูกสาวคนโตของ ทองคำและไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชายหนึ่งคน และมีน้องสาวหนึ่งคน ตระกูลฝ่ายบิดาเป็นทหารเรือ ตระกูลฝ่ายมารดาเป็นชาววัง

หลังจบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ได้ศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่ง

สุดท้ายตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา จึงสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน ระหว่างศึกษาระดับชั้นปีที่สามเพื่อนได้ชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เธอจึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน ก่อนเลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน

วิมลเริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์

ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ.2519 วิมลมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพลและแม่บ้าน เคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

หลังจากเลิกเป็นครูแล้ว วิมลสมรสกับ สมัคร กล่าเสถียร ต่อมาได้หย่าร้างกัน และสมรสครั้งที่สองกับร้อยตำรวจโทศรีวิทย์ เจียมเจริญ แล้วก็เกิดปัญหาอีก ทำให้มีคดีฟ้องร้องกันราวปี พ.ศ. 2523

6 นามปากกา

วิมลมีนามปากกา 6 ชื่อ ได้แก่

1.โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “กุหลาบราชินี” ใช้เขียนเรื่องรักพาฝันหรือจินตนิยาย ใช้ครั้งแรกในนวนิยายเรื่อง “ในฝัน”

2.ลักษณวดี ใช้สำหรับเขียนนวนิยายรัก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย คำว่า “ลักษณวดี” มีความหมายว่า “นางผู้มีลักษณะดี , นางผู้งามเลิศ” วิมลนำชื่อ “ลักษณวดี” ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีและเป็นมเหสีของพระลอดิลกราชจากวรรณคดีเรื่อง “ลิลิตพระลอ”

3.กนกเรขา ใช้สำหรับแต่งเรื่องตลกเบาสมอง คำว่า “กนกเรขา” แปลว่า “อักษรอันวิจิตร” วิมลนำชื่อ “กนกเรขา” ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีเรื่อง “กนกนคร” ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระนามเดิม คือ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) มาใช้เป็นนามปากกา

4.ทมยันตี แปลว่า “นางผู้มีความอดทนอดกลั้น” เป็นนางในวรรณคดีเรื่อง “พระนลคำหลวง” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนามปากกาที่ใช้แต่งเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตและสังคม รวมทั้งแต่งเรื่องราวแนวจิตวิญญาณ วิมลเริ่มใช้นามปากกานี้ในการประพันธ์นวนิยายเรื่อง “รอยมลทิน” เป็นเรื่องแรก

5.มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ และเคยใช้นามปากกานี้เขียนคอลัมน์ “สนธยากาล” ลงในนิตยสารขวัญเรือน (ภายหลังนิตยสารขวัญเรือนได้เลิกกิจการ คุณหญิงวิมลได้เขียนเรื่องราวดังกล่าวข้างต้นลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ล้านนาเทวาลัย”

6.วิม-ลา เป็นนามปากกาล่าสุดของคุณหญิงวิมล ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ล้านนาเทวาลัย” โดยเริ่มเขียนเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562

เหตุผลที่ผลงานของเธอไม่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมใด ๆ นั้น เป็นเพราะเธอไม่ประสงค์ให้ส่งผลงานเธอไปประกวด และปฏิเสธการรับรางวัลทั้งปวง เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า


“ฉันเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแล้ว นั่นคือรางวัลสูงสุดในชีวิต จากนั้นไม่เคยอยากได้รางวัลใด ๆ อีกเลย”