ไขมันทรานส์ ตัวร้ายทำลายสุขภาพ ยิ่งรู้จักยิ่งควรห่าง

เมื่อเร็ว ๆ นี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์รณรงค์ให้ทั่วโลกเลิกใช้ไขมันทรานส์ โดยมีเป้าหมายให้ไขมันทรานส์หมดไปจากโลกภายในปี 2566

เจ้า “ไขมันทรานส์” มันร้ายกาจอย่างไร ทำไมควรถูกกำจัดให้หมดไปจากโลก หลายคนรู้จักพิษภัยของมันอยู่แล้ว แต่หลายคนก็ยังไม่รู้

อาจารย์มาลี จิรวงศ์ศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ไขมันทรานส์ หรือ trans fatty acids เป็นไขมันไม่อิ่มตัว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ไขมันทรานส์ตามธรรมชาติที่เจอได้ไม่บ่อย เช่น ในเนื้อสัตว์เคี้ยวเอื้อง ส่วนที่เจอบ่อยคือไขมันทรานส์ชนิดเกิดจากการสังเคราะห์ของมนุษย์ ที่ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) หรือ PHOs เข้าไป เพื่อให้น้ำมันมีคุณสมบัติดีขึ้น เช่น เก็บได้นาน เหม็นหืนช้า ไม่เหลวง่าย ทนความร้อนสูง ปัจจุบันไขมันทรานส์ชนิดที่ได้จากการสังเคราะห์ของมนุษย์ได้รับความนิยมในกลุ่มกิจการร้านอาหารใช้น้ำมันหรือไขมัน ร้านเบเกอรี่

เรื่องความร้ายกาจของไขมันทรานส์ชนิดสังเคราะห์นั้น อาจารย์มาลีบอกว่า ไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บอกว่า ไขมันทรานส์สังเคราะห์ทำให้เกิดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจมากกว่าการกินไขมันอิ่มตัวปกติถึง 2 เท่า

ตรงกันกับข้อมูลของ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่บอกว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน

โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคหวาน มัน เค็ม มากเกินไป จากจำนวนผู้เสียชีวิต 100 คน มีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ถึง 73 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในสาเหตุก่อโรคมาจากการบริโภคไขมันทรานส์

สำหรับสถานการณ์ไขมันทรานส์ในประเทศไทย อาจารย์มาลีให้ข้อมูลว่า เมื่อไม่นานมานี้ อย.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวิจัยปริมาณไขมันทรานส์ในตลาด พบว่ายังมีร้านที่ใช้ไขมันทรานส์ทำอาหาร แต่มีจำนวนไม่มาก

อาจารย์มาลีบอกอีกว่าค่อนข้างมั่นใจว่าร้านอาหารตามตลาดสดเกือบทั้งหมดน่าจะไม่ใช้ไขมันทรานส์ เนื่องจาก 10 ปีก่อนได้สำรวจบริษัทผู้ผลิตน้ำมันทั้งหมด 17 รายที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งทุกรายเลิกผลิตน้ำมันด้วยกระบวนการ PHOs มีที่ตรวจเจอคือร้านและแบรนด์จากต่างประเทศที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า แต่หลังจากมีกฎหมายประกาศเลิกใช้ไขมันทรานส์ ซึ่งคาดว่าจะประกาศในเดือนมิถุนายนนี้ จะทำการตรวจสอบอีกครั้ง หลังกฎหมายประกาศจะต้องไม่มีไขมันทรานส์ในประเทศไทย