3 โรคทางมือ ปัญหาของคนทำงาน (หนัก)

แต่ละวันคนเราใช้มือตั้งแต่ตื่นขึ้นจนถึงเวลาหลับ มือก็เหมือนกับสิ่งของหรืออวัยวะอื่น ๆ ที่เมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็ย่อมมีเสื่อม มีผุพัง เกิดปัญหา ใช้งานได้ไม่ปกติ เป็นทั้งปัญหาสุขภาพ ปัญหาการทำงาน และปัญหาการใช้ชีวิตในเวลาเดียวกัน

นพ.ยงค์ศักดิ์ เลียงอุดม ศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์ ศัลยศาสตร์ทางมือและจุลศัลยศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกและข้อ รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า มือประกอบไปด้วย กระดูก เส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นเลือด และข้อเล็ก ๆ มือมีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกมากที่สุดในร่างกายรองจากดวงตา ปัญหาเกี่ยวกับมือที่พบได้บ่อยมีสาเหตุหลักจาก อุบัติเหตุ และปัญหาที่เกิดจากการทำงาน โฟกัสไปที่ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน คุณหมอให้ข้อมูลว่า ปัญหามือที่เกิดจากการทำงานมี 3 โรคที่พบบ่อย ได้แก่

1.นิ้วล็อก เกิดจากการใช้งานมากไปหรือใช้มืออย่างไม่ถูกต้อง เช่น จับหรือเกร็งนิ้วมือเป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบที่โคนนิ้วมือ สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ทำหน้าที่งอนิ้วมือ เมื่อปลอกหุ้มเอ็นอักเสบจะเกิดการหดตัว ทำให้เส้นเอ็นในปลอกประสาทถูกล็อก งอหรือเหยียดนิ้วไม่ได้ การรักษาโรคนิ้วล็อกในระยะแรก แพทย์จะรักษาให้หายอักเสบด้วยการทานยา หรือการฉีดยาก็จะช่วยให้ไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้าปล่อยไว้นานจนถึงขั้นล็อกแล้วปวดมาก งอเหยียดไม่ได้ ฉีดยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเอ็นที่มีปัญหาเพื่อให้กลับมาใช้งานได้

2.เส้นประสาทที่ข้อมืออักเสบ หรือโรคพังผืดเส้นประสาทที่ข้อมือ ซึ่งเป็นโรคมือที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากบริเวณข้อมือจะมีช่องว่างจำกัด และเส้นประสาทเส้นใหญ่อยู่ในบริเวณนั้น คนที่มีการใช้ข้อมือมาก ๆ เยื่อหุ้มเอ็นเกิดการอักเสบ จากนั้นจะเกิดพังผืดไปกดเส้นประสาทที่ข้อมือ ทำให้เกิดอาการ 3 อย่าง คือ ปวด ชาที่มือ มืออ่อนแรง ปวดร้าวขึ้นไปที่แขน บางคนที่มีอาการมาก สังเกตดูได้จากบริเวณเนินพระจันทร์ (กล้ามเนื้อนูน ๆ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ) จะมีอาการชานิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง

การรักษา หากเป็นในระยะแรกจะมีอาการปวดชาเล็กน้อย แพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดยา หรือใส่ปลอกข้อมือ หรือลดการใช้ข้อมือให้น้อยลง โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่หากมีพังผืดกดเส้นประสาทมาก ๆ กล้ามเนื้อบริเวณเนินพระจันทร์จะลีบฝ่อและหายไป มืออ่อนแรงหยิบจับสิ่งของไม่ได้ ส่วนการผ่าตัดรักษาโรคนี้ใช้เทคนิคผ่าตัดแผลเล็ก เพื่อขยายช่องเส้นประสาท

3.เอ็นข้อมืออักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยในกลุ่มคนที่ใช้มือทำงานหนักทำให้เกิดการอักเสบที่เอ็นบริเวณข้อมือทางด้านหลังฝั่งนิ้วหัวแม่มือ เกิดอาการเจ็บเมื่อกระดกนิ้วหัวแม่มือ การรักษาในระยะแรกทำได้โดยการประคบเย็นบ่อย ๆ ตามด้วยการขยับเบา ๆ เพื่อให้เอ็นยืดตัว และพักการใช้มือข้างที่อักเสบ

นอกจาก 3 โรคนี้แล้ว นพ.ยงค์ศักดิ์บอกว่า ยังมีโรคเนื้องอกเส้นประสาทบริเวณมือ คนไข้มักจะมาพบแพทย์ด้วยก้อนที่เกิดขึ้นบริเวณข้อมือ และรู้สึกเหมือนไฟชอร์ต มีอาการชามือ ปวด ปัญหาเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ เนื่องจากเส้นประสาทที่มองเห็นจากภายนอกเป็นเส้นใหญ่ ๆ ความจริงแล้วมีเส้นประสาทเส้นเล็ก ๆ อยู่ข้างในเป็นร้อย ๆ เส้น

ดังนั้นการผ่าตัดเนื้องอกในเส้นประสาทต้องใช้กล้อง microsurgery ที่มีความละเอียดเป็นพิเศษในการตัดเนื้องอกหรือถุงน้ำในเส้นประสาท เพื่อแยกเส้นประสาทเล็ก ๆ ออกมา เพราะหากผ่าตัดโดนเส้นประสาทคนไข้อาจสูญเสียความรู้สึกที่มือได้