ไอ จาม มีไข้ อย่าชะล่าใจ อาจอันตรายถึงชีวิต

ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่หนาวอย่างเป็นทางการแล้ว ในฤดูนี้อาการเป็นหวัด เป็นไข้ ไอ จาม อาจเกิดขึ้นมากกว่าฤดูอื่น แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการปกติประจำฤดูกาล เพราะนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคที่ร้ายแรง อย่างโรคปอดอักเสบ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง

นายแพทย์เดช จงนรังสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม (pneumonitis) เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ คือ 1.เกิดจากการติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า pneumonia ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา จนทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งส่งผลอันตรายอย่างมากต่อเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ หากมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอันตรายถึงชีวิตได้ 2.ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การหายใจเอาฝุ่น ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจเข้าสู่ปอด อาทิ ควันไฟ ควันรถยนต์ หรือยาฉีดพ่นแมลง จนอาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบหรือปอดบวมได้เช่นเดียวกัน

โดยทั่วไปโรคปอดอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ในกรณีปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อจะพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป นอกจากนี้

ยังพบได้ในผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการให้เคมีบำบัด หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

สาเหตุของการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ทั้งจากการไอ จาม หรือการหายใจรดกัน ซึ่งเป็นการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศที่เป็นละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอดโดยตรง รวมถึงการสำลักเชื้อที่สะสมอยู่ตรงบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด เช่น การสำลักน้ำลาย การสำลักอาหาร หรือการสำลักสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ หากผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อจากอวัยวะส่วนอื่นมาก่อนอาจเกิดภาวะการแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสเลือดจนลุกลามไปสู่ปอดและอวัยวะข้างเคียงได้

โดยปกติอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ หายใจเร็ว หายใจหอบ หายใจลำบาก ไอมีเสมหะ มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียอ่อนเพลีย หากเกิดกับผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ ส่วนเด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน เซื่องซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันไปตามผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

นายแพทย์เดชแนะแนวทางป้องกันโรคปอดอักเสบว่า สามารถปฏิบัติได้ง่าย ๆ โดยเริ่มจากการไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะไปทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตามธรรมชาติของปอด ต้องดูแลสุขอนามัยส่วนตัว

หมั่นล้างมืออยู่เป็นประจำ หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ควรหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือหากมีอากาศหนาวเย็นเมื่อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ควรรีบรักษาให้หายขาดโดยเร็ว นอกจากนี้ ควรสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

นายแพทย์เดชบอกอีกว่า หากเกิดอาการป่วยและมีอาการตามความเสี่ยงของการเกิดโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

เบื้องต้นแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยซักประวัติและตรวจร่างกายของผู้ป่วย ฟังเสียงปอด เอกซเรย์ปอด อีกทั้งยังมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคพร้อมแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ โดยการตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ขั้นต่อมาคือการตรวจวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดว่าลดลงหรือไม่ สุดท้ายคือการตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะและเลือด เพื่อหาชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค จากนั้นจึงจะรักษาการติดเชื้อร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นควบคู่กันไป

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ หรือมีโรคประจำตัวบางอย่างสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (pneumo-coccal vaccine)เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อได้เช่นกัน