รู้จัก “ภาวะพร่องออกซิเจน” ภัยเงียบในผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ

Happy hypoxia
ภาพจาก pixabay

ระดับค่าออกซิเจน สามารถบอกระดับความรุนแรงของผู้ป่วยโควิดได้ แต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่มี “ภาวะพร่องออกซิเจน” 

วันที่ 23 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปกติแล้วระดับค่าออกซิเจนในร่างกาย เป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะบอกได้ว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีอาการรุนแรงจนนำเชื้อไวรัสลงสู่ปอดหรือไม่ โดยการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

แต่สำหรับอาการ Happy hypoxia หรือ “ภาวะพร่องออกซิเจนแบบไม่มีอาการ” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิดที่ไม่แสดงอาการนั้น อาจแสดงค่าออกซิเจนที่สวนทาง เพราะแม้ไม่มีอาการ แต่กลับพบว่า ค่าออกซิเจนต่ำกว่าปกติมาก

“ประชาชาติธุรกิจ” พาทำความรู้จัก ภาวะพร่องออกซิเจน ว่า แท้จริงแล้วผู้ป่วยที่มีอาการนี้จะเป็นมีอาการหรือแตกต่างจากผู้ป่วยโควิดทั่วไปอย่างไร รวมถึงระดับความรุนแรงที่อาจส่งผลให้เสียชีวิตทันที เมื่อผู้ป่วยแสดงอาการ ดังนี้

รู้จัก Happy hypoxia หรือภาวะพร่องออกซิเจน

เฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า ของ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือหมอแม็ก นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โพสต์อธิบายถึงอาการที่ชื่อ “Happy hypoxia” ซึ่งเกิดกับผู้ติดเชื้อโควิดแต่ไม่แสดงอาการ ไว้ว่า

“Happy hypoxia” ไม่ได้แฮปปี้เหมือนชื่อ เราเคยเห็นคนที่ติดโควิดแล้วไม่มีอาการอะไรมาก แล้วจู่ ๆ ก็เสียชีวิตฉับพลัน เริ่มมีจำนวนมากขึ้นแล้ว บางคนเดินอยู่ดี ๆ ก็เริ่มทรุดเสียชีวิต บางคนก็เสียชีวิตที่บ้านทั้งที่มีอาการน้อย ๆ

ซึ่งเวลาที่โควิดลงปอด ปอดก็จะทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนได้น้อยลง ทำให้ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำลงด้วย ก็เลยเรียกว่าภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) พอออกซิเจนลดลง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการต่าง ๆ เช่น แน่นหน้าอก ไอ หายใจไม่สะดวก

Happy hypoxia คือ ร่างกายเกิดภาวะพร่องออกซิเจน แต่ผู้ป่วยกลับไม่มีอาการ หรือมีอาการแค่เล็กน้อย ร่างกายยังดูเหมือนแฮปปี้อยู่เลย ทำให้ไม่รู้ตัวว่าร่างกายเข้าใกล้ภาวะวิกฤต ระบบหายใจล้มเหลว มีอาการปอดบวม

เพราะฉะนั้นวิธีที่จะรู้ว่าร่างกายพร่องออกซิเจนก็คือ การวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วเป็นประจำ ปกติระดับออกซิเจนในเลือดจะอยู่ประมาณ 95-100% แต่ถ้าต่ำกว่า 90% แสดงว่าเริ่มมีภาวะพร่องออกซิเจนแล้ว

ชนิดของภาวะพร่องออกซิเจน

พญ.สิรินาถ เรืองเผ่าพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะพร่องออกซิเจนว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

1. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย (Hypoxic/Hypoxia) เป็นแบบที่พบได้บ่อยที่สุด มันเกิดจากความดันของออกซิเจนในถุงลมปอดลดลง เช่น การขึ้นไปอยู่ที่สูงอย่าง ภูเขา ยอดตึก หรือขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพราะความกดบรรยากาศลดลง ออกซิเจนจึงเบาบางลงไปด้วย

2. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งมีสาเหตุจากเลือด (Hypemic Hypoxia) สาเหตุเกิดจากความบกพร่องในการพาออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลงจากโรคโลหิตจาง ภาวะผิดปกติของสารฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้ตามปกติ รวมไปถึงการที่ร่างกายได้รับยาหรือสารพิษที่มีผลให้เม็ดเลือดแดงบกพร่องในการจับออกซิเจน

3. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งมีสาเหตุจากการคั่งของกระแสเลือด (Stagnant Hypoxia) เกิดจากความบกพร่องในการไหลเวียนของเลือด เช่น แรงดันเลือดจากหัวใจลดลง เนื่องจากเป็นโรคหัวใจล้มเหลว เป็นต้น

4. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งมีสาเหตุจากภาวะเป็นพิษของเซลล์ (Histotoxic Hypoxia) เกิดขึ้นจากการที่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายไม่สามารถนำเอาออกซิเจนไปใช้ได้ เนื่องจากได้รับสารพิษ เช่น แอลกอฮอล์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไซยาไนด์ เป็นต้น

ระดับความรุนแรงของภาวะเลือดพร่องออกซิเจน

ส่วนการแบ่งระดับความรุนแรงของภาวะเลือดพร่องออกซิเจน มีด้วยกัน 3 ระดับ คือ

  • Mild hypoxemia : ระดับออกซิเจนอยู่ระหว่าง 60-80 มิลลิเมตรปรอท
  • Moderate hypoxemia : ระดับออกซิเจนอยู่ระหว่าง 40-60 มิลลิเมตรปรอท
  • Severe hypoxemia : ระดับออกซิเจนน้อยกว่า 40 มิลลิเมตรปรอท

ทั้งนี้ ในผู้สูงอายุมุากกว่า 60 ปี จะมีระดับลดต่ำลง 1 มิลลิเมตรปรอทต่ออายุที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 ปี

อาการของภาวะพร่องออกซิเจน

ภาวะพร่องออกซิเจนนับว่าอันตราย เพราะมักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่รู้สึกตัว (Insidious onset) จนหมดสติในที่สุด โดยทั่วไปมักแสดงอาการผิดปกติ ดังนี้

  1. ระบบประสาทส่วนกลาง พบ ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง กระสับกระส่าย สับสน มึนศีรษะ ปวดศีรษะเนื่องจากหลอดเลือดสมองขยายตัว เพ้อ หมดสติ ชัก
  2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด พบ ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ ความดันโลหิตเพิ่มในระยะแรกเพื่อปรับชดเชย ต่อมา หัวใจเต้นผิดจังหวะ บีบตัวช้าลง เจ็บหน้าอกและหัวใจหยุดเต้นในระยะสุดท้าย
  3. ระบบการหายใจ พบ หายใจไม่สะดวก มีเสียงดัง ปีกจมูกบาน การหายใจเร็วหรือช้ากว่าปกติ ตื้นหรือลึกแล้วแต่สาเหตุ มีการหายใจแบบหิวอากาศ (air hunger) และใช้กล้ามเนื้อซี่โครงและไหล่ ในการช่วยหายใจจนหยุดหายใจในที่สุด
  4. ระบบผิวหนัง ระยะแรกผิวหนังเย็น ซีดเนื่องจาดหลอดเลือดหดตัว เพื่อปรับชดเชยให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ต่อมา เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำและเสียชีวิตในที่สุด
  5. ระบบทางเดินอาหาร พบมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนในระยะแรก