“โรคลมชัก” เข้าใจอาการ-คำเเนะนำป้องกันอุบัติเหตุ

โรคลมชัก คำเเนะนำป้องกันภัยเงียบคร่าชีวิต

ความน่ากลัวของ “โรคลมชัก” ไม่ได้มีเพียงแค่ทำให้ร่างกายเกิดอาการเกร็งกระตุกไปชั่วขณะ จนอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุร้ายภายในพริบตาเดียวเท่านั้น แต่ยังแอบซ่อนความอันตรายอันรุนแรงระดับทำให้เซลล์สมองตาย ในกรณีที่มีอาการกำเริบติดต่อกันบ่อย ๆ เอาไว้อีกด้วย

เพื่อเป็นการเตือนให้ตระหนักถึงภัยเงียบใกล้ตัวจากโรคลมชัก พ.อ. (พิเศษ) ดร.น.พ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้ข้อมูลถึงความน่ากลัวของโรคภัยชนิดนี้กับประชาชนว่า

“ในเมืองไทยมีการประมาณตัวเลขผู้ป่วยโรคลมชักเอาไว้ราว 6-7 แสนคน ซึ่งหมายความว่าจะพบคนที่เป็นโรคลมชัก 1 คน ในทุก 100 คน โดยสาเหตุของโรคเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมองลัดวงจร จนก่อให้เกิดอาการชักตามมา นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุมาจากโรคทางกรรมพันธุ์, ภาวะติดเชื้อในสมอง, สมองขาดออกซิเจน มีไข้สูงแล้วชัก มีอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง เซลล์ในสมองอยู่ผิดที่ ไปจนถึงเนื้องอกในสมอง และอีกหลายสาเหตุ”

น.พ.โยธินกล่าวว่า ภาวะชักมีอยู่หลายประเภท อาทิ เหม่อลอย, เกร็ง, กระตุก, คอบิด แขนเหยียดไม่เท่ากัน หรือมีอาการชักทั่วทุกส่วนที่เรียก โรคลมบ้าหมู อาจจะเป็นอาการที่สังเกตง่าย ผู้ป่วยมีโอกาสถูกนำตัวส่งแพทย์และได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ สูง โรคลมชักหากได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ และถูกต้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหายขาดได้

“ถ้าปล่อยให้คนไข้ชักอยู่เรื่อย ๆ สภาวะที่กระแสไฟฟ้าในสมองถูกระตุ้นมากเกินไป จะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารทำลายเซลล์สมอง เซลล์สมองจะตาย เน็ตเวิร์กภายในเซลล์สมองจะเสีย คนไข้ที่มีอาการชักนาน ๆ พอเอกซเรย์สมอง 2 ปีถัดมา พบว่าสมองเหี่ยวลง สมองส่วนความจำก็เหี่ยวด้วย แล้วยังกระทบต่อสมองส่วนอื่น ภาวะเหล่านี้ถ้าเรารักษาช้า คนไข้จะไม่สามารถกลับมาปกติเหมือนเดิมได้เลย”

ด้าน รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า กลุ่มเสี่ยงคือผู้ป่วยชาย หากมีความถี่ของการชักสูงก็ยิ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนน โดยกลุ่มผู้ป่วยอายุ 18-25 ปี มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางจราจรสูงเป็น 3-4 เท่าของกลุ่มอายุอื่น

โดยผู้ป่วยโรคลมชักทุกคนมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุแตกต่างกัน ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย ได้แก่

1) ชนิดของการชัก พบว่า การชักชนิดเกร็งกระตุกทั้งตัวและหมดสติ หรือการชักชนิดล้มลงกับพื้นทันทีเนื่องจากเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้ออย่างทันที เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าการชักชนิดอื่นๆ เพราะผู้ป่วยจะหมดสติและล้มลงขณะชัก แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการเตือนก่อนการชักก็จะเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่า เพราะผู้ป่วยทราบว่าจะเกิดอาการชักจึงสามารถหยุดทำกิจกรรม นั่งหรือนอนลงกับพื้นได้

2) ความถี่ของการชัก ถ้าผู้ป่วยชักบ่อยมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน มีโอกาสสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

3) ผู้หญิง พบว่ามีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากไฟไหม้น้ำร้อนลวกมากกว่าผู้ชาย เพราะหน้าที่ในการทำงานบ้านของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เช่น ปรุงอาหาร รีดผ้า เป็นต้น

4) ช่วงเวลาที่เกิดอาการชัก พบว่า ถ้าอาการชักเกิดขึ้นเฉพาะเวลากลางคืน หรือขณะที่นอนหลับเท่านั้น โอกาสที่เกิดอุบัติเหตุน้อยมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่พักผ่อนและนอน แต่ถ้าอาการชักเกิดขึ้นในเวลากลางวันขณะที่ทำงาน หรืออยู่นอกบ้าน ระหว่างการเดินทางก็จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูงกว่ามาก

5) ผลแทรกซ้อนจากการรับประทานยากันชัก เช่น ง่วง ซึม เดินเซ มือสั่น เสียการทรงตัว

สำหรับมีแนวทางป้องกันอุบัติเหตุสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก ได้เเก่

1) ต้องรับการรักษาโรคลมชักเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการชัก และระวังผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น อาการเดินเซ มือสั่น หรือซึม พยายามอย่าให้เกิดขึ้น ถ้ามีอาการผิดปกติต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมต่อไป

2) ทำกิจกรรมต่างๆ ตามคำแนะนำ ดังนี้

-การขับรถถ้าจำเป็นจริงๆ ควรหยุดขับรถอย่างน้อย 6 เดือนหลังควบคุมการชักได้ ถ้าจะให้ดีควรหยุดขับรถอย่างน้อย 1 ปี หลังจากการชักครั้งสุดท้าย แต่ถ้าเป็นพนักงานขับรถก็ไม่ควรขับรถจนกว่าจะควบคุมอาการชักได้นานมากกว่า 5 ปี และสามารถหยุดยากันชักได้แล้ว

-การปรุงอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการใช้เตาแก๊สและเตาถ่าน โดยแนะนำใช้เตาไมโครเวฟแทน แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ควรปรุงอาหารด้วยความระมัดระวัง และถ้ามีอาการเตือนก่อนชัก ควรรีบหยุดทำทันที

-การอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ หรือแม่น้ำลำคลอง ควรนั่งอาบน้ำและไม่ควรล็อกประตูห้องน้ำ เพราะถ้ามีอาการชักจะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงและผู้ให้การช่วยเหลือจะได้เข้าให้การช่วยเหลือได้ง่ายและรวดเร็ว

-การว่ายน้ำ ไม่ควรว่ายน้ำคนเดียว ควรมีคนดูแลอย่างใกล้ชิดและไม่ควรว่ายน้ำจนเหนื่อย เพราะจะกระตุ้นให้มีอาการชักได้ง่ายขึ้น

-ไม่ควรอยู่ในที่สูงตามลำพัง

-ไม่ควรเล่นกีฬาที่มีการปะทะกันหรือเล่นกีฬาผาดโผน

-ถ้าชักถี่มากๆ และล้มบ่อยๆ อาจใส่หมวกกันน็อกเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ

-การนอนไม่ควรนอนบนเตียงที่สูงจากพื้นมากๆ ดีที่สุดควรนอนกับพื้นหรือที่นอนวางติดกับพื้น และไม่ควรมีสิ่งของต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้วางไว้ใกล้ๆ ที่นอน เช่น ตู้ไม้ กระติกน้ำร้อน เพราะถ้ามีอาการชักขณะนอนหลับนั้น ผู้ป่วยอาจมีการเกร็งกระตุกของแขนขาและไปโดนสิ่งของเหล่านั้น ก็ก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายขึ้น

อุบัติเหตุที่เกิดจากการชักส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และสามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมการชักให้ดี และปฏิบัติตนตามคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคลมชัก และพยายามไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนจากการใช้ยากันชักก็จะป้องกันได้เป็นอย่างดี