
ทำความรู้จัก “รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม” ที่จัสติน บีเบอร์กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ โรคที่เกิดขึ้นได้ในทุกคน
วันที่ 11 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน เกี่ยวกับอาการของนักร้องวัย 28 ปี จัสติน บีเบอร์ ที่ได้ออกมาเปิดเผยผ่าน Instagram ที่ชื่อ justinbieber ว่าตัวเองประสบปัญหาของอาการ โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม จนทำให้เลื่อนทัวร์คอนเสิร์ตออกไป
วันนี้ประชาชาติธุรกิจจะพาไปทำความรู้จัก โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม – Ramsay Hunt syndrome ที่เกิดขึ้นได้ในทุกคน
รายงานจาก Mayo Clinic อธิบายว่า โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม เป็นภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการโรคงูสวัด ที่ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทบนใบหน้าบริเวณหู นอกเหนือจากอาการเจ็บปวดของผื่นงูสวัดแล้วนั้น รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรมยังส่งผลกระทบทำให้เกิดอัมพาตที่ใบหน้า และสูญเสียการได้ยิน
รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับ “อีสุกอีใส” แม้โรคอีสุกอีใสจะหายแล้ว แต่ตัวไวรัสยังคงอยู่ในร่างกาย และหลายปีหลังจากนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทใบหน้า
การรักษาอาการรัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม อย่างทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนเช่น กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง และหูหนวก

สัญญาณเตือน
สัญญาณเตือนของโรค รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม จะแสดงออกอยู่ 2 แบบคือ
– เกิดผื่นแดง เจ็บปวด มีแผลพุพอง และมีของเหลวภายใน หรือรอบๆ หูข้างใดข้างหนึ่ง
– กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หรืออัมพาตข้างเดียวกับหูที่เกิดอาการ
โดยปกติแล้วอาการผื่นขึ้น จะเกิดขึ้นพร้อมกับใบหน้าอัมพาต ในบางครั้งอาการใด อาการหนึ่งเกิดขึ้นก่อน และในบางครั้งจะไม่มีผื่นเกิดขึ้น
อาการที่มักเจอ
- ปวดหู
- สูญเสียการได้ยิน
- หูอื้อ
- ปิดตาลงข้างเดียวลำบาก
- เกิดอาการเวียนศีรษะเมื่อขยับตัว
- สูญเสียการรับรสชาติ
- เกิดอาการปากแห้ง ตาแห้ง
สาเหตุของโรค
โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน เมื่ออาการอีสุกอีใสหายไป เชื้อไวรัสยังคงอยู่ในร่างกาย แต่จะแสดงอาการออกมาหลายปีหลังจากนั้นในรูปแบบของโรคงูสวัด และเกิดผื่นตุ่มใสที่ค่อนข้างเจ็บ
“รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม” เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของอาการโรคงูสวัดนี้ ที่ส่งผลต่อเส้นประสาทหน้าบริเวณหูข้างใดข้างหนึ่ง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบเกิดอัมพาตใบหน้า และสูญเสียการได้ยินในข้างเดียวกัน
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
กลุ่มอาการของ รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่เคยเป็นอีสุกอีใส แต่จะพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบไม่บ่อยนักในเด็ก
รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อย่างไรก็ตาม การเกิด รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม ทำให้ไวรัส varicella-zoster สาเหตุของ อีสุกอีใสทำงานอีกครั้ง ดังนั้นอาจจะเสี่ยงเป็นอีสุกอีใส ในกลุ่มบุคคลที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกัน หรือสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุัมกันอ่อนแอ ทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรถ์
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของ รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม ประกอบด้วย การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแอ โดยคนส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจะเป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่มันสามารถกลายเป็นถาวรได้
ดวงตาเสียหาย เนื่องจากอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ทำให้การปิดเปลือกตาค่อนข้างยาก เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกระจกตาที่ป้องกันดวงตา อาจะเกิดความเสียหาย และความเสียหายจากตรงนี้ทำให้เกิดอาการปวดตา ตาพร่ามัว
โรคประสาท Postherpetic อาการเจ็บปวดนี้เกิดขึ้นจาก โรคงูสวัดทำลายเส้นใยประสาท ทำให้เกิดอาการสับสน พูดเกินจริง ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเป็นเวลานานหลังจากอาการของโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรมหายไปแล้วก็ตาม
การป้องกัน
ในกลุ่มเด็กสามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ซึ่งช่วยลดการติดเชื้ออีสุกอีใสได้อย่างมาก ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด
สำหรับจัสติน บีเบอร์นั้นต้องเลื่อนจัดทัวร์คอนเสิร์ต “จัสติสเวิลด์ทัวร์” (Justice World Tour) ออกไปอีกครั้ง ครั้งแรกเกิดจากนักร้องหนุ่มติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
ทั้งนี้ จัสตินยังเคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไลม์ (Lyme diseaswe) และ Chronic Mono ที่ส่งผลต่อผิวหนัง การทำงานของสมอง กำลังและสภาพร่างกาย
สาเหตุของโรคเกิดจากเห็บกัด ซึ่งเห็บตั้วนั้นมีเชื้อแบคทีเรีย Borrelia Garinii ที่เข้าสู่กระแสเลือดหลังโดนกัดทำให้เกิดอาการป่วยทั้งทางร่างกาย และอาการทางจิตเวช ยังไม่รวมถึงโรคซึมเศร้า และเสพติดยาอย่างหนัก ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา

