เทียบอาการฝีดาษลิง เริม อีสุกอีใส งูสวัด ไข้ทรพิษ มีตุ่มน้ำคล้ายกัน

ฝีดาษลิง องค์การอนามัยโลก
PHOTO : REUTERS

กรมการแพทย์ เปิดเผยความแตกต่างระหว่าง “โรคฝีดาษลิง” กับโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ 

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่เฟซบุ๊กกรมการแพทย์ ได้เผยแพร่ข้อมูลความแตกต่างระหว่างโรคฝีดาษลิง กับโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ ที่พบรอยโรคเป็นตุ่มน้ำเช่นเดียวกัน คือ ไข้ทรพิษ เริม สุกใส และงูสวัด โดยมีรายละเอียดของแต่ละโรค ดังนี้

อาการฝีดาษลิง

  • เชื้อก่อโรค : Pox virus
  • การติดต่อ : การสัมผัสสารคัดหลั่งรอยโรค และละอองฝอยจากทางเดินหายใจ, ติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ และติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์
  • ระยะฟักตัว : 7-21 วัน
  • อาการนำ : ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหลัง ต่อมน้ำเเหลืองโต
  • อาการแสดงทางผิวหนัง : แผลในปาก ตามด้วยผื่นแดง ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ โดยตุ่มน้ำอาจมีรอยบุ๋มเล็ก ๆ ตรงกลาง และกลายเป็นตุ่มหนองแล้ว จึงจะตกสะเก็ด, รอยโรคจะอยู่ในระยะเดียวกัน
  • การรักษา : แบบประคับประคองและการรักษาตามอาการยา Tecovirimat (อยู่ระหว่างการศึกษา)

อาการไข้ทรพิษ

  • เชื้อก่อโรค : Pox virus
  • การติดต่อ : การสัมผัสสารคัดหลั่งรอยโรค และละอองฝอยจากทางเดินหายใจ และติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์
  • ระยะฟักตัว : 7-17 วัน
  • อาการนำ : ไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหลัง เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • อาการแสดงทางผิวหนัง : แผลในปาก และคอหอย ตามด้วยผื่นแดง ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ โดยตุ่มน้ำอาจมีรอยบุ๋มเล็ก ๆ ตรงกลาง และกลายเป็นตุ่มหนอง แล้วจึงจะตกสะเก็ด, รอยโรคจะอยู่ในระยะเดียวกัน มักทิ้งรอยแผลเป็น
  • การรักษา : แบบประคับประคองและการรักษาตามอาการยา Tecovirimat (รับรองจาก USFDA)

อาการเริม

  • เชื้อก่อโรค : Herpes simplex virus
  • การติดต่อ : การสัมผัสสารคัดหลั่ง การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์
  • ระยะฟักตัว : 3-7 วัน
  • อาการนำ : อาการเจ็บ ปวดแสบร้อน คันบนตำแหน่งที่จะเกิดรอยโรค ปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร อาจพบมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโตในผู้ป่วยบางราย
  • อาการแสดงทางผิวหนัง : ตุ่มแดงและตุ่มน้ำที่เจ็บบนพื้นแดง อาจจะมีรอยบุ๋มเล็ก ๆ ตรงกลาง ต่อมากลายเป็นตุ่มหนองและแผลหรือแผลถลอกตกสะเก็ด และรอยโรคจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มไม่กระจายตัว
  • การรักษา : การรักษาตามอาการร่วมกับยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir, Famciclovir และ valacyclovir

อาการสุกใส

  • เชื้อก่อโรค : Varicella Zoster Virus
  • การติดต่อ : การสัมผัสสารคัดหลั่ง รอยโรค และละอองฝอย จากทางเดินหายใจ และติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์
  • ระยะฟักตัว : 11-20 วัน
  • อาการนำ : ไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
  • อาการแสดงทางผิวหนัง : เป็นแผลในปาก และคอหอยตามด้วยผื่นสีแดง ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ โดยตุ่มน้ำอาจมีรอยบุ๋มเล็ก ๆ ตรงกลางและต่อมากลายเป็นตุ่มหนอง แล้วจึงตกสะเก็ด พบรอยโรคได้หลายระยะในเวลาเดียวกัน มีโอกาสที่จะทิ้งรอยแผลเป็นหลังหาย
  • การรักษา : การรักษาตามอาการร่วมกับยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir, Famiciclovir และ valacyclovir

อาการงูสวัด

  • เชื้อก่อโรค : Varicella Zoster Virus
  • การติดต่อ : มักเกิดจากการเป็นโรคอีสุกใสมาก่อน และมีเชื้อหลบที่ปมประสาท จะแสดงอาการภายหลัง สารที่คัดหลั่งของผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้
  • ระยะฟักตัว : ไม่ได้ระบุ
  • อาการนำ : อาการเจ็บแสบ ปวดแสบร้อน คัน บนตำแหน่งที่จะเกิดรอยโรค อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ
  • อาการแสดงทางผิวหนัง : ตุ่มแดงและตุ่มน้ำ ที่เจ็บอาจมีรอยบุ๋มเล็ก ๆ ตรงกลาง ต่อมากลายเป็นตุ่มหนอง และแผล หรือแผลถลอกตกสะเก็ด รอยโรคอยู่เป็นกลุ่ม และมีการกระจายตัวตามแนวของเส้นประสาท
  • การรักษา : การรักษาตามอาการร่วมกับยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir, Famciclovir และ Valacyclovir

ฝีดาษลิง