สธ.ยันไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ขออย่ากังวล

ฝีดาษลิง ฝีดาษวานร

กรมควบคุมโรคยันไทยยังไม่พบผู้ป่วย “โรคฝีดาษลิง” ขออย่ากังวล เข้มเฝ้าระวัง-คัดกรอง-ควบคุมโรค ขณะที่ทั่วโลกติดเชื้อไปแล้ว 990 คน

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ข้อมูลทางคลินิกที่สำคัญของโรคฝีดาษลิง คือ ระยะฟักตัว 5-21 วัน มีอาการไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ไม่ค่อยมีน้ำมูก หลังไข้ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นกระจายลำตัว แขน ขา และใบหน้า ส่วนใหญ่หายเองได้ โดยลักษณะตุ่มมีหลายแบบ ตั้งแต่แดง ๆ ต่อมาใส ๆ เป็นหนอง ปุ่ม แห้ง และสะเก็ด ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้ แต่พบไม่บ่อย

ทั้งนี้ การพบตุ่มอย่างเดียวบอกไม่ได้ว่าเป็นฝีดาษลิง เพราะจะคล้ายกับหลายโรค อาการทางคลินิกเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง แต่การยืนยันต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

สำหรับโรคฝีดาษลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก และจากคนสู่คนจากการสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะแผลของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าและสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน ส่วนการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังเป็นการตั้งสมมุติฐานยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ

Advertisment

ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูล (วันที่ 5 มิ.ย. 2565) มีรายงานใน 43 ประเทศ มีผู้ป่วยยืนยัน 900 กว่าจากหลายประเทศ โดยประเทศที่พบมาก อาทิ สเปน อังกฤษ โปรตุเกส แคนาดา เยอรมนี เป็นต้น แต่ลักษณะการระบาดไม่เร็ว ถ้าเทียบกับโควิด-19 ส่วนใหญ่อาการไม่ค่อยรุนแรง และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ส่วนประเทศไทยมีการเฝ้าระวังฝีดาษลิง มีระบบคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ กำหนดนิยามวินิจฉัยผู้ป่วย เตรียมพร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การสอบสวน ควบคุมและป้องกันโรค และจัดหาวัคซีนหากจำเป็นต้องใช้ ถ้าประชาชนท่านใดมีอาการสงสัยสามารถไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป