การกลับมาของฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ยังไม่ทันที่โรคโควิด-19 จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น พลันโลกก็พบกับเชื้อไวรัสอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox จัดเป็นโรคที่เกิดจากสัตว์สู่คน (Zoonosis diseases) เช่นเดียวกับโควิด-19 (RNA virus)

โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African clade ที่มีอาการไม่รุนแรง อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 1 กับสายพันธุ์ Central African clade มีอาการรุนแรงกว่า อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 10

ซึ่งแตกต่างจาก “โรคฝีดาษ (Smallpox)” หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อของ “ไข้ทรพิษ” เกิดจากดีเอ็นเอไวรัส (DNA virus) มี 2 สายพันธุ์เช่นกัน คือ Variolar major มีอาการรุนแรงและมีอัตราการตายสูงประมาณ 1 ใน 3 กับ Variolar minor ที่ทำให้เกิดโรค Alastrim มีอาการไม่รุนแรงเท่าและอัตราการตายต่ำ

ในปัจจุบันผู้คนในโลกล้วน “ห่างไกล” จากองค์ความรู้และความน่าสะพรึงกลัวของโรคฝีดาษ เนื่องจากพบผู้ป่วยคนสุดท้ายที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษในโซมาเลีย ในปี 1977 หลังจากนั้นอีก 2 ปีต่อมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ประกาศชัยชนะในการขจัดโรคฝีดาษให้หมดสิ้นไปอย่างเป็นทางการ

ในขณะที่ประเทศไทยพบการระบาดของโรคฝีดาษครั้งสุดท้ายในปี 2504 และ WHO ได้เลิกฉีดวัคซีนฝีดาษตั้งแต่ปี 2513 แต่ไม่ได้หมายความว่า โลก “ชนะ” ไวรัสในตระกูลฝีดาษขั้นเด็ดขาด เพราะยังพบเจอได้กับโรคฝีดาษชนิดอื่น ๆ อาทิ ฝีดาษวัว, ฝีดาษแร็กคูน ไปจนกระทั่งถึงฝีดาษลิงตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม การกลับมาของโรคฝีดาษลิงครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อน ๆ เนื่องจากแม้จะพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ยังไม่พบเป็นวงกว้างในลักษณะกระจายไปหลายประเทศ และพบผู้ป่วยเฉพาะที่สัมผัสกับ “ลิง” โดยตรงที่อยู่ในวงจำกัด สามารถควบคุมโรคได้

ทว่าการพบผู้ป่วยฝีดาษลิงปัจจุบันพบมากกว่า 500 ราย และกระจายไปถึง 23 ประเทศ ในขณะที่ WHO เองแม้จะยังไม่ประกาศให้ โรคฝีดาษลิง เป็น “โรคระบาด” แต่ก็มีความกังวล เนื่องจากเชื้อไม่ได้แพร่จาก “ลิง” ไปสู่ “คน” เหมือนในอดีต แต่ตอนนี้เป็นการแพร่กระจายจาก “คน” สู่ “คน” หรือ “face to face” เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร

ที่สำคัญก็คือ องค์ความรู้เดิมที่เชื่อกันว่า โรคฝีดาษลิง เกิดจากการสัมผัสกับลิงที่เป็นแหล่งรังโรค แต่การพบผู้ป่วยรอบนี้มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่เคยสัมผัสกับลิง หรือไม่เคยเดินทางไปยังแอฟริกา ต้นทางการเกิดขึ้นของโรคแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ฝีดาษลิงอาจแพร่ผ่านทางสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก หรือสัตว์ในตระกูลฟันแทะ ที่คนซื้อมาเลี้ยง อาทิ หนูทะเลทรายเจอร์บิล, หนูแฮมสเตอร์ และอาจรวมไปถึงกระรอกด้วย

นอกจากนี้ ฝีดาษลิงยังเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ชายในกลุ่มชายรักชาย จนมีการตั้งสมมุติฐานกันขึ้นมาว่า โรคฝีดาษลิงอาจสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ

จนนำไปสู่การออกข้อแนะนำให้ระมัดระวังการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วยหรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก จากคนสู่คนโดยการสัมผัสโดยตรงกับแผลหรือสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วยหรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ของใช้ เป็นต้น

จนเกิดความสงสัยกันขึ้นมาถึงลักษณะของการติดเชื้อ ลักษณะของการแพร่ระบาด รวมไปถึงประเด็นที่ว่า การหยุดฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในอดีตตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมานั้น มีส่วน “เร่ง” ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงให้เร็วขึ้นด้วยหรือไม่

ในส่วนของประเทศไทย แม้จะยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงโดยตรง (พบจากการรอเปลี่ยนเครื่องเพียง 1 คน) แต่ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะ “ปลอด” จากโรคนี้ เนื่องจากการคมนาคมที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การเดินทางของฝีดาษลิงจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง จากพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน ส่งผลให้โรคนี้เป็นที่จับตาดูอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความไม่รู้อะไรอีกมากมายถึงการกลับมาของฝีดาษลิงในรอบนี้