นักวิจัยเผยสัตว์ทะเลกรองกินอาหารเสี่ยงได้รับ “ไมโครพลาสติก” สูง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต

งานวิจัยจากออสเตรเลียที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ก.พ. 2561 ได้เตือนถึงอันตรายของไมโครพลาสติกที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่กินอาหารด้วยการกรอง เช่น วาฬ และปลากระเบนราหู

โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อค ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งร่วมมือกับมูลนิธิ Marine Megafauna ในอินโดนีเซีย โดยการทดลองครั้งนี้ได้ตรวจสอบว่าสารเคมีเป็นพิษที่พบในพลาสติกสามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตเป็นเวลานานนับ 10 ปี และก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อภาวะแคระแกร็น, การพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป และปัญหาในระบบสืบพันธุ์

“สัตว์ทะเลที่กินอาหารผ่านการกรองนั้นอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากพวกมันต้องกลืนน้ำหลายพันคิวบิกเมตรต่อวัน เพื่อจะกรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร” เอลิตซา เจอร์มานอฟ หนึ่งในนักวิจัย อธิบายการค้นพบครั้งนี้ และว่า สัตว์เหล่านี้สามารถย่อยไมโครพลาสติกได้โดยตรงจากน้ำปนเปื้อนที่กลืนเข้าไป หรือผ่านทางอาหารของมันที่ปนเปื้อนสารพิษมาด้วยก็ได้

ทีมนักวิจัยยังพบว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มักจะมาเกาะกลุ่มกันในพื้นที่ที่เป็น “จุดมลพิษไมโครพลาสติก” ได้แก่ บริเวณอ่าวเม็กซิโก, ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, หาดเบงกอล และสามเหลี่ยมปะการังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เจอร์มานอฟกล่าวอีกว่า เนื่องจากคาดว่าการผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก การวางแผนติดตามระยะยาวในบริเวณที่ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลหาอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบระดับความเป็นพิษในสัตว์เหล่านี้ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง