ดาวเคราะห์น้อย “หัวกะโหลก” เยือนโลกอีกครั้งปลายปีนี้

ดร.พาโบล ซานโตส-ซานซ์ นักวิชาการด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งอันดาลูเซีย ในประเทศสเปน แถลงเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อยที่เคยสร้างความฮือฮาด้วยรูปลักษณะคล้ายหัวกะโหลก ซึ่งถูกตรวจสอบพบเมื่อวันฮาโลวีนในปี 2015 กำลังจะกลับมาสร้างความฮือฮาให้ใหม่อีกครั้งในปลายปีนี้

ดาวเคราะห์น้อยหัวกะโหลก ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “2015 ทีบี 145” ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 640 เมรตร เคยเฉียดผ่านเข้ามาใกล้โกลที่ระยะห่าง 480,000 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2015 อันเป็นระยะห่างที่ใกล้เคียงกับระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ (เท่ากับ 384,600 กิโลเมตร) ได้ชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่าหัวกะโหลก เนื่องจากเมื่อมองในบางมุมจะเห็นเป็นลักษณะคล้ายกะโหลกมนุษย์นั่นเอง มันหมุนรอบตัวเองทุกๆ 2.94 ชั่วโมง และสะท้อนแสงอาทิตย์เพียง 5-6 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณแสงทั้งหมดที่ตกกระทบ ซึ่งซานโตส-ซานซ์ระบุว่า ทำให้ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ค่อนข้างมืด เพราะสะท้อนแสงได้มากกว่าถ่านไม้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า “2015 ทีบี 145” ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวหาง แต่สูญเสียน้ำและวัสดุที่อ่อนไหวอื่นๆ ไปทุกครั้งที่โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้หลงเหลือสภาพเช่นที่เป็นอยู่ “2015 ทีบี 145” มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่กินเวลานาน 3.04 ปีต่อหนึ่งรอบ ทำให้ “2015 ทีบี 145” จะโคจรกลับมาใกล้โลกอีกครั้งหนึ่งในราวกลางเดือนพฤศจิกายน ปีนี้นั่นเอง

 

ที่มา มติชนออนไลน์