“สเปอร์” ยกระดับทีม เงินคู่ผลงาน ยุคบอลทุนนิยม

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ถ้าจะพูดถึงสโมสรฟุตบอลในยุโรปที่พัฒนาตัวเองจากทีมระดับกลางมาสู่ทีมหัวตาราง ได้อย่างน่าลุ้นที่สุด หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ (Tottenham Hotspur) ติดอันดับด้วย ทั้งผลงานและผลประกอบการแง่ธุรกิจช่วงปีที่ผ่านมา ทีม “ไก่เดือยทอง” คือทีมที่น่าจับตาการพัฒนามากที่สุด

ตลอด 9 ฤดูกาลที่ผ่านมา สเปอร์ กลายเป็นหนึ่งในทีมสอดแทรกเข้ามาเป็นท็อป 6 เพิ่มเติมจาก ท็อป 4 เดิมได้จนเหล่า 4 ทีมใหญ่เดิมต้องสะดุ้ง นอกจากผลงานในลีกและถ้วยยุโรปที่ดีวันดีคืนทุกฤดูกาล ปีนี้ แดเนียล เลวี ประธานสโมสร เผยผลประกอบการเบื้องต้นในฤดูกาล 2016-17 ที่ผ่านมา (นับจนถึงสิ้นสุดที่เดือนมิถุนายน 2017) โดยสโมสรมีรายได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ตัวเลข 306.3 ล้านปอนด์

แม้ จะยังรอผลประกอบการฉบับสมบูรณ์อย่างเป็นทางการ ระหว่างนั้นสโมสรระบุว่า กำไรในฤดูกาลข้างต้นอยู่ที่ 41.2 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2016 ที่มีตัวเลขกำไร 33 ล้านปอนด์ โดยสเปอร์ เป็นอีกหนึ่งทีมที่ได้ประโยชน์จากรายได้ของสัญญาการถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ ลีกซึ่งมีมูลค่ามหาศาล

สเปอร์ ทำรายได้จากสัญญาเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนทั้งหลายในฤดูกาล 2016-2017 ที่ 149.8 ล้านปอนด์ ขณะที่การได้ลงเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ส่งผลต่อฐานรายได้ของทีมเช่นกัน โดยทีมทำรายได้จากเงินรางวัลและตั๋วเข้าชมเกมในรายการยุโรปรวมแล้ว 44.6 ล้านปอนด์ ซึ่งฤดูกาลก่อนหน้านี้ สเปอร์ ได้เงินส่วนนี้ที่ 18.7 ล้านปอนด์เท่านั้น

นอกเหนือจากผลงานการเงินที่เป็นกราฟพุ่งขึ้น ผลงานในสนามของสเปอร์ ก็โดดเด่นตลอด 5 ฤดูกาลที่ผ่านมาเช่นกัน ปีนี้ “ไก่เดือยทอง” ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย พัฒนาจากปี 2016 ที่ตกรอบแบ่งกลุ่ม เรียกได้ว่าพวกเขาเป็นทีมที่โดดเด่นที่สุดในลอนดอนในเวลานี้ก็ว่าได้

ปรากฏการณ์นี้อาจเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีที่ทีมจากลอนดอนที่ทำผลงานได้ดีสุดในยุโรปไม่ใช่เชลซี และอาร์เซนอล พัฒนาการครั้งนี้ทำให้วงการลูกหนังอาจต้องหันกลับมาดูการก้าวกระโดดครั้งนี้ ในฐานะกรณีศึกษาและมองความท้าทายต่อไปในเส้นทางหลังจากนี้

จุดเปลี่ยนสำคัญอันเป็นที่มาของการก้าวกระโดดครั้งนี้คงต้องย้อนกลับไปที่ ยุคของ แฮร์รี่ เร้ดแน็ปป์ กุนซืออังกฤษจอมเก๋าที่คืนชีพสเปอร์ ให้กลายเป็นทีมที่ดุดันอีกครั้ง การผสมผสานระหว่างผู้เล่นแข็งแกร่งและมากประสบการณ์กับดาวรุ่งฝีเท้าจัดจ้า นอย่างแกเร็ธ เบล เป็นส่วนผสมที่ลงตัวและพาทีมผงาดขึ้นติดหัวตารางและได้เล่นฟุตบอลยุโรปใน ฤดูกาล 2010-11

จากการจุดระเบิดของทีมและผลงานแจ้งเกิดของ แกเร็ธ เบล ประกอบกับส่วนผสมของผู้เล่นที่แข็งแกร่งหลายรายทั้ง ลูก้า โมดริช, ร็อบบี้ คีน, โรมัน พาฟลูเชนโก้, นิโก ครันชาร์, ราฟาเอล ฟาน เดอร์ ฟาร์ท และปีเตอร์ เคราช์ สเปอร์ส ทำผลงานยอดเยี่ยมในลีกต่อเนื่อง

การขายดาราตัวเก่งของทีมอย่าง แกเร็ธ เบล ด้วยมูลค่า 85 ล้านปอนด์ นำมาสู่การลงทุนต่อยอดสร้างทีมชุดใหม่ในยุคของ อังเดร วิลลาส โบอาส ขุมกำลังที่ทีมได้มาอาจยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ในทันทีจนเป็นเหตุให้กุนซือ โปรตุเกสที่ถูกมองว่ามีศักยภาพเป็นเหมือน โจเซ่ มูรินโญ่ กุนซือเพื่อนร่วมชาติถูกปลดจากตำแหน่ง ก่อนจะเป็น ทิม เชอร์วูด มาคุมทีมต่อ

ขณะที่ทีมสร้างดาวเตะชั้นยอดอีกคนให้แจ้งเกิดในยุโรปได้ บทเรียนสำคัญที่ไก่เดือยทองแสดงให้เห็นคือการฉวยโอกาสจากการพัฒนาผลงานใน สนามควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างของสโมสรในยุคแดเนียล เลวี ได้สำเร็จ และเห็นภาพชัดมากขึ้นในช่วงการทำงานของเมาริซิโอ โพเช็ตติโน กุนซืออาร์เจนไตน์ ที่แทบใช้ทรัพยากรต่อยอดจากยุคโบอาส และมาติดปีกเมื่อกันแฮร์รี่ เคน เด็กปั้นของทีมขึ้นแจ้งเกิดแบบยิ่งใหญ่

ท่ามกลางความสำเร็จหลายด้านของสโมสรที่เป็นสัญญาณเชิงบวก ประธานสโมสรเน้นย้ำว่า ทีมยังต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคตโดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงทาง โครงสร้าง ซึ่งการก่อสร้างสนามใหม่ความจุ 62,000 ที่นั่งยังอยู่ระหว่างทางเตรียมพร้อมให้ทันใช้งานฤดูกาลหน้า (ฤดูกาลนี้สเปอร์ใช้เวมบลีย์เป็นสนามเหย้า)

การย้ายสนามที่มีความ จุมากกว่าเดิมเกือบเท่าตัวหมายถึงรายได้ที่มากขึ้นซึ่งจะทำให้ทีมมีฐานราย ได้ขยับขึ้นพร้อมรองรับเพดานค่าเหนื่อยของนักเตะในทีม นั่นหมายถึงโอกาสที่ทีมจะดึงดูดดาวเตะย่อมมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สเปอร์ยังต้องรับมือกับความเสี่ยงเรื่องราคาตั๋วในสนามใหม่ ซึ่งกลุ่มแฟนบอลวิจารณ์กันว่าตั๋วปีในสนามใหม่ฤดูกาลหน้าแพงเกินรับได้

สิ่งเดียวที่สเปอร์ ยังขาดไปในเส้นทางขาขึ้นเกือบทศวรรษนี้คือถ้วยแชมป์ การฉลองแชมป์ครั้งล่าสุดคือลีก คัพ เมื่อปี 2008 ขณะที่ปีนี้ไก่เดือยทองมีลุ้นแชมป์

เอฟเอ คัพ โดยพวกเขามีโปรแกรมรอบตัดเชือก พบกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปลายเดือนเมษายนนี้ ถ้าปีนี้สเปอร์ ชูถ้วยแชมป์ได้สำเร็จคงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกครั้งในวงการลูกหนังยุค ทุนนิยม ขณะที่สเปอร์ ยังสามารถรักษาสมดุลทางการเงิน การลงทุน และพัฒนาผลงานในสนามควบคู่กันไปตามระดับที่เหมาะสมมากกว่าเร่งลงทุนอย่าง หนักติดต่อกันเพื่อความสำเร็จ