ไทย VS มาเลเซีย ลึกกว่าปม “โกง” เพื่อเจ้าเหรียญทอง

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

สถิติเหรียญทองทะลุ 100 เหรียญของมาเลเซีย ในซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่กัวลาลัมเปอร์ เป็นผลลัพธ์ที่น่าจะบรรลุเป้าหมายสำหรับการเป็นเจ้าภาพตามที่เสือเหลืองวาง ไว้ ความสำเร็จครั้งนี้มีสิ่งที่คนในอาเซียนเรียนรู้ได้หลายอย่าง นอกเหนือจากการแข่งเป็นเจ้าเหรียญทอง

ถ้าพูดถึงศักยภาพในการพัฒนานักกีฬาช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แทบทุกประเทศในอาเซียนยอมรับว่าในชนิดกีฬากระแสหลักเป็นไทยที่มีพัฒนาการมาก ที่สุด ซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ถึง 29 ไทยไม่เคยรั้งอันดับในตารางเหรียญต่ำกว่าอันดับ 2 เลย แน่นอนว่าปัจจัยการเป็นเจ้าภาพมีผลอย่างมาก โดยซีเกมส์ 10 ครั้งหลังสุด ไทยแซงเจ้าภาพขึ้นเป็นเจ้าเหรียญทองได้แค่ 3 ครั้งเท่านั้น (ไม่นับรวมปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และครองเจ้าเหรียญทองเอง)

และครั้งที่ 29 ก็เป็นอีกครั้งที่ไทยไม่สามารถแซงเจ้าภาพได้ ประเด็นแรกของการเป็นเจ้าเหรียญทองของมาเลเซีย คือแทบทุกคนรู้ว่าสิทธิ์กำหนดชนิดกีฬานอกเหนือจากกีฬาหลักเป็นของเจ้าภาพ ซึ่งส่งผลต่อจำนวนเหรียญ หลายชนิดกีฬาที่ไทยมีนักกีฬามากฝีมืออย่าง มวยหญิง ยกน้ำหนักหญิง มวยสากลสมัครเล่น เหลือชิงเหรียญทอง 11 เหรียญ ยกน้ำหนักที่เป็นกีฬาโอลิมปิกเหลือชิงเหรียญทอง 5 เหรียญ

ขณะที่ปัน จักสีลัต กีฬาพื้นบ้านแถบอาเซียน ชิงชัยถึง 20 เหรียญทอง และมีรายละเอียดยิบย่อยหลายกรณี ที่ไม่ว่าอย่างไรก็เอื้อให้มาเลเซียได้เหรียญทอง วูซู มีชิงเหรียญทอง 17 เหรียญ มาเลเซียได้ไป 6 เหรียญทอง บางชนิดกีฬาอาจดูมีปรับกลับมาจัดตามปกติ แต่ที่เกิดขึ้นคือ มาเลเซียตัดรุ่นที่มีนักกีฬาตัวท็อปจากแต่ละประเทศที่พร้อมลงแข่งออก

รายละเอียดที่น่าสนใจอีกกรณี คือ การปรับรูปแบบกรอบการแข่งอย่างระบบแบ่งกลุ่มทีมฟุตบอลที่เจ้าภาพเลือกลง กลุ่มเอง หรือจัดโปรแกรมแข่งนัดสุดท้ายในระบบพบกันหมด โดยไม่จำเป็นต้องให้ทีมร่วมกลุ่มแข่งพร้อมกันเพื่อความยุติธรรม กรณีนี้มีผู้ใหญ่ในวงการวิเคราะห์ว่า สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือเอเอฟซี ก็มีผู้บริหารระดับสูง และทีมคณะกรรมการมีสัดส่วนผู้มาจากมาเลเซียอยู่บ้าง การดำเนินการภายในก็อาจส่งผลบางอย่างต่อการจัดระบบจัดการการแข่งขันระบบ แข่งขันที่เอื้อให้เจ้าภาพคือ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เบียดบังหรือลดทอนศักยภาพทีมกีฬาคู่แข่งเพื่อนบ้านแล้วไป เข้าทางเจ้าภาพ ฉะนั้น จำนวนเหรียญทะลุหลัก 100 เหรียญทอง ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับบทบาทเจ้าภาพ

อีกประเด็นที่น่าคิดไม่แพ้ ระบบจัดการของเจ้าภาพ คือ คำถามเรื่องการพิสูจน์ศักยภาพจากประเทศคู่แข่งเอง อย่างกรณีไทยที่แทบจะเป็นผู้นำในชนิดกีฬาสากลส่วนใหญ่ในภูมิภาค แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศเพื่อนบ้านเองก็ไม่หยุดนิ่งเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ การขับเคี่ยวทางการกีฬาในภูมิภาคมีชื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย แต่จากซีเกมส์ครั้งนี้จะเห็นภาพชัดขึ้นว่า เวียดนาม และสิงคโปร์ เริ่มมีสัดส่วนจำนวนเหรียญบี้ติดไทยแล้ว ถ้าดูเส้นไทม์ไลน์ตารางเหรียญ ไทยเพิ่งแซงเวียดนามขึ้นอันดับ 2 ในช่วงกลางสัปดาห์สุดท้ายของการแข่ง

ยิ่งเมื่อลงไปดูรายละเอียดชนิด กีฬา เวียดนามเริ่มสร้างนักกีฬาที่แข็งแกร่งในหลายชนิดกีฬา ไม่ว่าจะเป็นกีฬาบุคคล หรือทีม สิงคโปร์แม้จะมีจำนวนประชากรแค่ 5 ล้านคน แต่สามารถผลิตนักกีฬาว่ายน้ำคุณภาพระดับโลก หรือกีฬาทางน้ำอื่น ๆ

จุดนี้คือจุดที่ต้องยอมรับว่าศักยภาพนักกีฬาไทยที่คาดหวังได้ เมื่อเทียบกับการพัฒนาของเพื่อนบ้าน สัดส่วนเหรียญต่าง ๆ ย่อมลดหายไปบ้าง เมื่อมองลึกไปแต่ละชนิดกีฬา บางชนิดที่ไทยเคยครองแท่นมาตลอดก็เริ่มถูกชาติอื่นแซง อย่างกีฬากลุ่มกรีฑา โดยเฉพาะประเภทลู่

ภาพสะท้อนของผลงานของไทยเองที่เห็นได้ชัดอีกกรณีคือ ทีมมวยไทย ซึ่งชิงชัยครบ 5 รุ่น แต่ได้เหรียญทอง 2 รุ่น

ดราม่ามาเกิดตรงที่รายงานข่าวว่า หัวหน้าผู้ฝึกสอนไทยเปิดเผยว่า เป็น “นโยบายของสมาคม” เนื่องจากมองว่าอยากให้ทุกชาติสนใจกีฬาชนิดนี้เพื่อเพิ่มโอกาสถูกบรรจุใน โอลิมปิก ถ้าไทยได้หมดทั้ง 5 เหรียญทอง อาจส่งผลต่อความสนใจในกีฬาชนิดนี้ในมุมมองชาติอื่น เพราะแน่นอนว่าไม่มีใครอยากฝึกกีฬาที่ตัวเองไม่มีโอกาสชนะ

ถึงเหตุผลนี้จะดูขัดแย้งกับเป้าหมายการประสบความสำเร็จเพื่อความเป็นเลิศทางกีฬา แต่คงต้องย้อนกลับไปที่ข้อแรก ธรรมชาติของเจ้าภาพจะต้องไปให้ถึงเจ้าเหรียญทอง

การบรรจุกีฬาที่เพิ่มสัดส่วนเหรียญให้ประเทศอื่นคงขัดธรรมชาตินี้ แต่ถ้าจะให้บรรจุมาแข่งเรียกความสนใจจากนานาชาติไปสู่เป้าหมายของไทยเอง การโน้มน้าวเจ้าภาพ หรือชาติอื่น ๆ ว่า พวกเขามีโอกาสได้เหรียญจากกีฬาชนิดนี้ จะสำคัญกว่าจำนวนเหรียญทองที่ไทยได้หรือไม่ เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าภาพ ถ้าเป็นแล้วไม่ได้ผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งคงหาผู้รับหน้าที่ยาก

ความสัมพันธ์ที่ซ้อนทับพัวพันกันวุ่นวายในธรรมชาติของเจ้าภาพกับเป้าหมายที่หลาก หลายของแต่ละประเทศนี้ เป็นเรื่องยากจะบริหารจัดการเพื่อเป้าหมายกลางที่ว่า “เชื่อมสัมพันธ์และความสามัคคี” ในกลุ่มภูมิภาค ซึ่งถ้ามองรอบด้านทั้ง

มุมกว้างและลึกจะเห็นได้ว่า แต่ละประเทศมีจุดประสงค์ของตัวเองเสมอ บางครั้งอาจไม่สอดคล้องกับเป้าหมายกลางด้วยซ้ำ แต่ใช้เป้าหมายกลางเป็นฟันเฟืองไปสู่เป้าหมายตัวเอง อยู่ที่ว่าใครจะวางสมดุลได้มากน้อยแค่ไหน ด้วยวิธีอะไร กระบวนการเป็นอย่างไร