เส้นทาง “คิริน” นักวิ่งลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ฮีโร่คนใหม่ของชาวไทย

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ทัพนักกีฬาไทยหล่นมาอยู่อันดับ 3 ในตารางอันดับเหรียญรวมของซีเกมส์ 2019 ที่ฟิลิปปินส์ ผลงานนี้ย่อมบ่งบอกสภาพของวงการในภูมิภาคได้บ้าง บางชนิดกีฬาอาจไม่ได้ตามเป้า หรือได้ตามเป้า แต่ด้วยบุคลากรหน้าเดิม แต่ดูเหมือนว่าทัพนักกีฬาไทยก็ไม่เคยขาดฮีโร่ที่พอจะถูกมองว่าเป็น “ต้นแบบ”


สำหรับซีเกมส์ครั้งนี้ ในกลุ่มฮีโร่ของชาวไทยมีชื่อ “คิริน ตันติเวทย์” (ชื่อภาษาอังกฤษออกเสียงได้ว่า “คีแรน”) นักวิ่งเหรียญทองรายการ 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร ในแง่ผลงานย่อมบอกได้ว่า ฟอร์มการวิ่งที่เร่งเครื่องแซงในรอบสุดท้ายในแต่ละรายการวิ่งที่ได้เหรียญทองนั้น ถือเป็นความยอดเยี่ยมของนักกีฬาโดยเฉพาะในประเภทการวิ่ง

ผู้ที่ชื่นชอบการวิ่งหรือแม้แต่นักกีฬาเองยังยอมรับกันว่า การวิ่งระยะยาวเกือบค่อนหนึ่งของระยะมาราธอน การเก็บพลังงานเพื่อไปวิ่งแซงในรอบสุดท้ายแบบทิ้งห่างได้ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยศักยภาพทางร่างกาย

สำหรับผู้ที่ผ่านตาภาพการแข่งขันของคิริน ในรายการที่ได้เหรียญทองทั้งสองรายการมาก่อนย่อมเห็นได้ว่า ทั้งสองรายการคิรินเร่งสปีดแซงราวกับรถยนต์ติด “ไนตรัส” ที่พบเห็นกันในภาพยนตร์ การเก็บแรงในระยะวิ่งขนาดนี้แล้วยังสามารถเร่งสปีดได้ หากเปรียบให้เห็นภาพชัดคงต้องบอกว่า คนทั่วไปยิ่งวิ่งยิ่งพละกำลังลดลง (ในแง่รักษาระดับให้ไล่เลี่ยกับผู้วิ่งรายอื่นด้วย) และที่สำคัญ คิรินเป็นนักวิ่งไทยในประเภทระยะไกลที่มีความสามารถขนาดนี้ในรอบทศวรรษหลังมานี้

ขณะที่ประวัติและเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวของหนุ่มนักวิ่งมาแรงรายนี้ก็เป็นที่สนใจไม่แพ้กัน คิริน ในวัย 22 ปี เป็นบุตรของ ดร.วรเวช ตันติเวทย์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ปรึกษาอาวุโสในโครงการของธนาคารโลก ตัวเขาเองก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ในระดับชั้นปี 4 ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่มาของเรื่องราวที่ทำให้เขาได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

สื่อไทยบางแห่งบอกว่า เงินอัดฉีดจากรัฐบาลที่คิรินจะได้รับจากผลงานเหรียญทองซีเกมส์ เขาไม่สามารถรับได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขว่านักกรีฑาสมัครเล่นของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไม่สามารถรับเงินรางวัลจากการแข่งใด ๆ ได้ นั่นจึงทำให้คิรินมอบเงินรางวัลให้กับสถาบันการศึกษาในไทยแทน

ข้อมูลส่วนนี้ถูกนำไปเผยแพร่อีกหลายต่อ จนกระทั่งทำให้คนไทยนิยมชื่นชมในตัวนักกีฬาที่มากความสามารถรายนี้ยิ่งขึ้นอีก

อีกประเด็นที่ถูกเอ่ยถึงมากไม่แพ้กัน คือ วีรกรรมที่คีแรนวิ่งด้วยเท้าเปล่า ในการแข่งขันรายการ Indoor Ivy Heptagonal เป็นรายการระดับมหาวิทยาลัยเมื่อช่วงต้นปี เขาลงแข่งทั้งในประเภท 3,000 เมตร และ 5,000 เมตร แต่เป็นแชมป์ในรายการระยะ 3,000 เมตร ที่ทำให้เขาได้รับความสนใจจากสื่อระดับโลก

ในครั้งนั้น คีแรนวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยรองเท้าข้างขวาแค่ข้างเดียว แต่ยังสามารถคว้าชัยในการแข่งขันได้อยู่ วอชิงตัน โพสต์ สื่อระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ต้องโทรศัพท์ไปสัมภาษณ์กับแชมป์เชื้อสายไทย-อเมริกันรายนี้

คีแรนเล่าให้ฟังถึงผลงานที่ทำให้เขากลายเป็นไวรัลในแวดวงคนรักการวิ่งว่า ในการแข่งระยะ 3,000 เมตร

ช่วงต้นของการวิ่ง รองเท้าของคิรินเริ่มหลุดออกมาครึ่งหนึ่ง จนต้องวิ่งไปอีก 100-200 เมตร ต่อมาภายใต้ความรู้สึกแบบอึดอัดจากการวิ่งแบบใส่รองเท้าไม่สมบูรณ์ และติดขัดขณะพยายามดึงมันกลับมาเข้าที่โดยไม่ต้องหยุด กระทั่งมาถึงระยะ 400-500 เมตร เขาปล่อยให้รองเท้าหลุดออกไปตามธรรมชาติ

ในการวิ่งระยะไกล การวางแผนเป็นเรื่องสำคัญมาก แผนการที่โค้ชวางให้คีแรน คือ วิ่งทำระยะไปสัก 1,800 เมตร

หลังจากนั้นจึงค่อยเร่งเครื่องแซงขึ้นมา คิรินยอมรับว่า เหตุการณ์เฉพาะหน้าส่งผลต่อแผนที่วางไว้มาก แต่พอประเมินว่า สภาพรองเท้าข้างเดียวน่าจะยังพอทำได้อยู่ คือเกาะกลุ่มและตีตื้นให้ได้ จึงวิ่งต่อไป กระทั่งมาถึงระยะ 2,000 เมตร เขาเล่าว่า เริ่มรู้สึกผิวหนังฝ่าเท้าเริ่มเปิด การวิ่งด้วยสภาพแบบนี้ทำให้รู้สึกเหมือนวิ่งบน “กรวด” ต้องปรับมาวิ่งลงส้นเท้ามากขึ้น ระยะที่ยากที่สุดคือช่วงรอบสุดท้าย และนี่ก็เป็นระยะที่เขาเร่งไปสู่แชมป์

ในรอบสุดท้าย คิรินเร่งเครื่องจากอันดับ 3 ขึ้นมาแซงนำจนเข้าเส้นชัย ซึ่งการยิ่งเร่งวิ่ง ยิ่งทำให้รู้สึกยากเข้าไปอีก แต่คิรินเล่าว่า ก่อนเข้ารอบสุดท้าย เขาประเมินจากสภาพร่างกายและความรู้สึกว่า ยังมีพลังเหลือและพอจะรับกับความรู้สึกเจ็บที่ไม่น่าจะเจ็บไปกว่านั้นจนถึงขั้นปวดแสนสาหัสได้ จากนั้นคิรินจึงเร่งเครื่องเพื่อทิ้งระยะห่างจนเข้าเส้นชัย

หลังจากคว้าชัยแล้ว ยิ่งเมื่ออะดรีนาลีนในร่างกายไม่ได้อยู่ในสภาวะพลุ่งพล่าน นั่นแหละจึงได้รู้สึกเจ็บมากขึ้น และต้องรีบรักษาตัวเพื่อแข่ง 5,000 เมตรต่อในวันรุ่งขึ้น ซึ่งหลังจากประเมินร่างกายก่อนและระหว่างวอร์มอัพ คิรินเล่าว่า เขาเริ่มชินกับความรู้สึกนี้และตัดสินใจลงแข่ง

แน่นอนว่าบาดแผลจากการแข่งครั้งนั้นน่าจะหายดี หลังจากฟื้นฟูร่างกายไปแล้ว และพอจะกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากผลงาน การวิ่งรองเท้าเดียวและแผลที่ได้ อาจทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

ยิ่งเมื่อมาถึงซีเกมส์ ภาพไฮไลต์ที่วิ่งติดไนตรัส ประกอบกับข่าวเรื่องไม่ได้ขึ้นรับเหรียญ เพราะต้องรีบไปสนามบินเพื่อเดินทางกลับไปสอบ เนื่องจากทำเรื่องผ่อนผันมหาวิทยาลัยเอาไว้ ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ ไม่ให้เรียกว่า

“ฮีโร่” แล้วจะมีคำอื่นใดเหมาะไปกว่านี้อีก