โควิด-19 สะเทือนกีฬาระยะสั้น-ยาว ยากจัดการ การเงินทรุด

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ผ่านไป 3 เดือนแรกของปี 2020 เป็นช่วงเวลาที่ต้องยอมรับว่า ไม่มีอะไรที่ทำให้ทั่วโลกปั่นป่วนและเสียหายเท่ากับไวรัสโควิด-19 การรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมากเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง นั่นทำให้กีฬาหลายชนิดได้รับผลกระทบไปด้วย สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่ในช่วงที่การแข่งถูกระงับเท่านั้น แต่คือสิ่งที่ตามมาหลังจากพ้นช่วงวิกฤตไปแล้วด้วย

กีฬามหาชนและชนิดกีฬากระแสหลักทั้งในยุโรปและสายอเมริกันเกมล้วนได้รับผลกระทบต้องปรับโปรแกรมแข่งขันกันถ้วนหน้า นักกีฬาคนดัง บุคลากร หรือเหล่าผู้บริหารตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับบนขององค์กรกีฬาต่างปรากฏผลตรวจเชื้อไวรัสเป็นบวกกันมากมายดังข่าวที่ปรากฏ

โปรแกรมการแข่งขันระดับสโมสรไปจนถึงทีมชาติล้วนถูกเลื่อน ระงับ หรือไม่ก็แข่งโดยไม่มีผู้ชมกันมาสักพักแล้ว สำหรับโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว ก็น่าเป็นห่วงว่าจะจบลงที่มาตรการแบบไหน ระหว่างโลกกีฬากำลังมีมาตรการเบื้องต้นรองรับช่วงแพร่ระบาดนี้ สื่อกีฬาหลายแห่งเริ่มตั้งข้อสังเกตผลกระทบที่จะตามมาภายหลังมรสุมโรคระบาดผ่านไปแล้วว่ามีแนวโน้มส่งผล

อย่างเจ็บปวดไม่เบาทีเดียว (แน่นอนว่าไม่มีใครคัดค้าน หรือปฏิเสธมาตรการเบื้องต้นสำหรับคนกีฬา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาด บริบทในที่นี้หมายถึงข้อสังเกตเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพที่กำลังมาถึงหลังผ่านสถานการณ์ไปแล้วอีกระลอก)

กรณีที่พอเป็นตัวอย่างได้ คือ ลีกอังกฤษ ซึ่งทั้งพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอลแถลงแล้วว่าการแข่งทั้งหมดจะเลื่อนไปอย่างน้อยจนถึง 30 เมษายน นั่นหมายความว่า โปรแกรมยังไม่แน่นอน เร็วที่สุดคือ 1 พฤษภาคม หากสถานการณ์ไม่น่าปลอดภัยก็อาจล่าช้าไปมากกว่านั้น หรือหากจำเป็นก็ต้องเตะในสนามปิดไปก่อน

ขณะที่ศึกฟุตบอลยูโร 2020 ในวาระครบ 60 ปีของทัวร์นาเมนต์ ซึ่งเดิมทีทัวร์นาเมนต์ครั้งนี้จะตระเวนแข่ง 12 เมืองทั่วยุโรป แต่ล่าสุด สหพันธ์ฟุตบอลแห่งทวีปยุโรป (ยูฟ่า) ประกาศเลื่อนทัวร์นาเมนต์นี้ไปกลางปี 2021 เลยทีเดียว

ในปี 2021 มีทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลหญิง ยูโร 2021 โปรแกรมนัดแรกเริ่มแข่ง 7 กรกฎาคม หัวเรือใหญ่ของยูฟ่า ก็ยังไม่ได้ออกมาประกาศถึงชะตากรรมทัวร์นาเมนต์หญิงในปี 2021 แต่ตัวเลือกหนึ่งที่ประธานยูฟ่าให้สัมภาษณ์ คือ อาจเลื่อนทัวร์นาเมนต์หญิงไป 2022 ก็เป็นได้ เพราะหากพิจารณาถึงโปรแกรมแข่งที่ใกล้เคียงกันมาก ระหว่างเกมฝ่ายชายและหญิง นี่ยังไม่นับเกมแข่งของทีมชาติชุดเล็กระดับอายุต่ำกว่า 21 ปีลงไป

อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่า บอกว่า “นี่คือการเริ่มต้นใหม่ของฟุตบอล” เลยทีเดียว วลีนี้ถูกใช้กับบริบทด้านความร่วมมือร่วมใจกับทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 องค์กรมักมีประเด็นไม่ลงรอยกัน นี่ก็เป็นอีกแง่มุมที่ทำให้เห็นว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกันประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านไปได้

โดยรวมแล้วฟุตบอลยุโรปทั้งรายการในประเทศและรายการชิงถ้วยสโมสรระดับทวีปถูกวางไว้ว่า ต้องจบลงก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน หากจินตนาการการเตะในช่วงกลางปีแล้ว เป็นไปได้ว่าทีมใหญ่ที่มีโปรแกรมร่วมรายการยุโรป อาจต้องเตะถี่หนัก เล่นเกมลีกกลางสัปดาห์หลายสัปดาห์ติด หรือมีแนวโน้มเตะถ้วยยุโรปในวันสุดสัปดาห์ (เดิมมีแค่กลางสัปดาห์) นี่เป็นแค่เรื่องโปรแกรมแข่งที่จะปรับกันระนาวทั้งในช่วงการระบาด และผลกระทบที่จะตามมาหลังจากการระบาดผ่านพ้นไปแล้ว

อีกประเด็นที่วงการกีฬาเป็นห่วงกันมากไม่แพ้เรื่องโปรแกรมแข่ง คือ เรื่องระบบการเงิน ในช่วงที่ระงับเกมแข่ง หรือแข่งแบบปิดสนามไม่มีผู้ชม สโมสรต่าง ๆ ขาดรายได้จากส่วนนี้ไป นั่นย่อมส่งผลต่อต้นทุนในการลงทุนต่อไป นักวิจารณ์วิเคราะห์กันว่า 12 เดือนหลังจากนี้ ตลาดซื้อ-ขายนักเตะอาจเงียบเหงากว่าเคย ทีมใหญ่ที่กระเป๋าหนาอาจจับจ่ายใช้สอยได้ ทีมระดับกลางลงไปคงต้องถูกสถานการณ์บีบส่งผลต่อเรื่องการควักเงินจ่าย

นี่ยังเป็นแค่ภาพของลีกฟุตบอลอังกฤษภายใต้ทวีปยุโรปเท่านั้น ยังไม่นับกีฬากระแสหลักชนิดอื่นซึ่งล้วนได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน ที่สุดแล้วก็คงต้องพึ่งพาวลีแบบที่หัวเรือใหญ่ของยูฟ่ากล่าว ทุกคนต้องรีเซต เริ่มต้นความร่วมมือร่วมใจกันใหม่ ใครเคยไม่ถูกกับใครก็ต้องร่วมมือกันเพื่อผ่านพ้นสถานการณ์ไปให้ได้