“บินไทย” ไปไม่ถึงฝัน ปี”60 ขาดทุนกว่า 2 พันล้าน

แม้รายได้จากการดำเนินงานสำหรับปี 2560 ที่ผ่านมาจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.9 แสนล้านบาท

แต่หากดูตัวเลขสุดท้าย คือ “กำไรสุทธิ” แล้ว ในปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทการบินไทยยังคงมีตัวเลขกำไรที่ติดลบสุทธิถึง 2,072 ล้านบาท

“เรืออากาศเอก กนก ทองเผือก” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายบริหารงานกฎหมายและบริหารทั่วไป ปฏิบัติงานในหน้าที่รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2560 บริษัทได้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนปฏิรูปองค์กร คือ “การเติบโตอย่างยั่งยืน”

โดยได้มีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การเปิดเส้นทางบินตรงสู่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในจุดบินที่มีศักยภาพและขยายเส้นทางบินในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้สายการบินไทยสมายล์

และได้เพิ่มศักยภาพฝูงบินโดยรับมอบเครื่องบินใหม่ 7 ลำ และปลดระวางเครื่องบินเช่า A330-300 จำนวน 2 ลำ ทำให้ฝูงบิน ณ 31 ธันวาคม 2560 มี 100 ลำ สูงกว่าสิ้นปีก่อน 5 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเพิ่มขึ้นจาก 11.5 ชั่วโมง เป็น 12.0 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 6.4% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 14.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 79.2% สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 73.4% และสูงสุดในรอบ 10 ปี

โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3%

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 บริษัทต้องเผชิญความท้าทายจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และการแข่งขันที่รุนแรงจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศและทั่วโลก ประกอบกับจากเหตุการณ์เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์รุ่น TRENT1000 ที่ติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 ที่บริษัทมีอยู่ในฝูงบิน จำนวน 6 ลำ ที่ประสบปัญหาจากตัวใบพัดในเครื่องยนต์ ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบกับการให้บริการและกระทบต่อตารางการบิน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตลอดจนสูญเสียโอกาสในการหารายได้ตามแผนที่วางไว้

“เรืออากาศเอกกนก” ยังแจงผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยประจำปี 2560 ด้วยว่า มีรายได้รวม 191,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,389 ล้านบาท (6.3%) โดยเพิ่มขึ้นทั้งจากรายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ และรายได้จากการบริการอื่น ๆ

ส่วนค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 189,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,604 ล้านบาท (7.1%) เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 4,879 ล้านบาท (10.8%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 24.2% ประกอบกับปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิต ถึงแม้ว่าจะมีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ไม่รวมน้ำมัน) สูงขึ้น 8,313 ล้านบาท หรือ 6.6%

สาเหตุหลักเกิดจากปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินสุทธิลดลง 588 ล้านบาท (11.5%) จากการบริหารเงินสดและการปรับโครงสร้างทางการเงินต่อเนื่องจากปีก่อน เป็นผลให้มีกำไรจากการดำเนินงาน 2,856 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,215 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน 3,191 ล้านบาท ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,581 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 2,072 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,107 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.97 บาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 0.01 บาท

เรียกว่าสถานะ “ตัวแดง” ยังกลายเป็นปัญหาหนักอกที่ “การบินไทย” ยังแก้ไขไม่สำเร็จ และก็คงยังเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้บริหารองค์กรแห่งนี้ต้องเร่งแก้ไขอีกรอบในปีนี้…