แอร์เอเชีย ชี้ผู้โดยสาร ตปท.พุ่ง เชื่อมาตรการภาษีอินเดียไม่กระทบดีมานด์

ธันย์สิตา อัครฤทธิรมย์

“แอร์เอเชีย” อวดยอดผู้โดยสารรูตอินเตอร์ครึ่งปีแรกเกิน 80% เผย “สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์-ดานัง” ท็อป 3 จุดหมายปลายทางยอดนิยม ส่วนอินเดียตลาดใหญ่บางรูตเกิน 90% ยันยังไม่เห็นสัญญาณดีมานด์ตลาดอินเดียหดตัว หลังทางการอินเดียจ่อปรับขึ้นภาษีนักท่องเที่ยวขาออกใช้จ่ายต่างประเทศ เผยเตรียมเปิดบิน “อาห์เมดาบัด” เสริมอีก 1 เส้นทาง

นางสาวธันย์สิตา อัครฤทธิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมการให้บริการของแอร์เอเชียสำหรับตลาดเส้นทางระหว่างประเทศในครึ่งปีแรก 2566 ว่า ไทยแอร์เอเชียทยอยกลับมาให้บริการเส้นทางบินเดิมที่เคยเปิดให้บริการได้ตามเป้าที่วางไว้ พร้อมเปิดเส้นทางใหม่ ๆ เช่น เส้นทางบินตรงสู่ ญี่ปุ่น (ฟูกุโอกะ) ฟิลิปปินส์ (มะนิลา) ไต้หวัน (ไทเป) บังกลาเทศ (ธากา) รวมทั้งอินเดีย (ลัคเนา) เป็นต้น

โดยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ตลาดเส้นทางระหว่างประเทศของไทยแอร์เอเชีย มีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 83 มีปริมาณเที่ยวบินเเละที่นั่ง (capacity) รวมกลับมาเเล้วประมาณร้อยละ 80-85 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19

นางสาวธันย์สิตากล่าวว่า จุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับเเรก ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 46 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (บินตรงจากดอนเมือง เชียงใหม่ เเละภูเก็ต) รองลงมาคือ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จำนวน 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (บินตรงจากดอนเมือง สุวรรณภูมิ หาดใหญ่ สำหรับเที่ยวบิน FD และบินตรงจากเชียงใหม่ กระบี่ สำหรับเที่ยวบิน AK แอร์เอเชียมาเลเซีย) และเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม จำนวน 25 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (บินตรงจากดอนเมืองและเชียงใหม่)

ส่วนตลาดอินเดียถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพการเติบโตต่อเนื่องของแอร์เอเชีย โดยปัจจุบันไทยแอร์เอเชียเปิดบินตรงอยู่เเล้ว 7 เส้นทาง จากดอนเมืองสู่ โกลกาตา เชนไน ชัยปุระ โกชิ บังคาลอร์ คยา และล่าสุดมีแผนจะเปิดเพิ่มบินตรงสู่อาห์เมดาบัด เร็ว ๆ นี้ โดยจุดหมายปลายทางในเส้นทางอินเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ เชนไน โกลกาตา บังคาลอร์ ที่มีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยสูงมากกว่าร้อยละ 90 โดยเฉพาะผู้โดยสารขาเข้าประเทศไทย

นางสาวธันย์สิตายังกล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กและเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า ทางการอินเดียเตรียมเก็บปรับขึ้นอัตราภาษีการใช้จ่ายในต่างประเทศ ยกเว้นหมวดการแพทย์และการศึกษา จากเดิม 5% เป็น 20% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้เป็นต้นไปด้วยว่า ปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด

โดยสายการบินได้ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านข้อมูลข่าวสาร การกำหนดนโยบายและประเมินความพร้อมเป็นระยะ ซึ่งปัจจุบันสายการบินยังคงจัดโปรโมชั่นบินราคาประหยัดต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ และเชื่อว่าจากมาตรการดังกล่าวจะไม่กระทบกับยอดผู้โดยสารแอร์เอเชียในตลาดอินเดียภาพรวม

ขณะที่นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงกรณีรายงานข่าวดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ททท.ประเมินว่ายังไม่ส่งผลกระทบหรือความกังวลต่อตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางเข้าประเทศไทย

โดยเบื้องต้นนั้นจะรอประเมินอีกครั้งว่าเมื่อมีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวแล้วจะทำให้ต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวอินเดียสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน และส่งผลให้ตลาดการท่องเที่ยวหดตัวหรือไม่ ซึ่ง ททท.จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ มองว่ากรณีเลวร้ายที่สุดคือ คาดว่าตลาดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังใช้จ่ายต่ำถึงปานกลาง นักท่องเที่ยวไมซ์ กลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อรางวัล (incentives) ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยกรุ๊ปละหลักร้อยคนอาจมีดีมานด์การเดินทางจะชะลอตัวลงไป ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางด้วยตนเอง (F.I.T.) และนักท่องเที่ยวกลุ่มพรีเมี่ยมยังมีแนวโน้มออกเดินทางอยู่เช่นเดิม