คาราวาน “รถยนต์-บิ๊กไบก์” ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

กองทัพคาราวาน “รถยนต์-บิ๊กไบก์” บุกไทย ! ดึงนักท่องเที่ยวมาเลเซีย-สิงคโปร์โตต่อเนื่อง เผยสถิติตัวเลขรถผ่านแดนทางบกกว่า 2.5 หมื่นคันต่อปี ททท.ชี้เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ ใช้จ่ายสูง มั่นใจตลาดนี้โตได้อีกมหาศาล หลังมหาดไทยแก้ระเบียบใหม่ให้ต่างชาติเข้า-ออกไทยไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อปี

นายกฤษฎา รัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย นิยมเดินทางท่องเที่ยวแบบคาราวานมากขึ้น ทั้งคาราวานรถยนต์และรถจักรยานยนต์

ทั้งนี้ เป็นผลจากเทคโนโลยีในการนำทาง รวมถึงถนนและป้ายบอกทางในประเทศไทยที่สามารถอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น นอกจากนั้น เสน่ห์พิเศษของท้องถนนประเทศไทยที่แตกต่างกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารและสตรีตฟู้ดก็เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว

โดยคาราวานดังกล่าวส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 30-40 คัน และอาจจะสูงสุดได้ถึง 70 คัน ซึ่งมีทั้งประเภทคาราวานรถยนต์ครอบครัวที่เดินทางมาด้วยกันเป็นหมู่คณะใหญ่ ๆ รวมถึงคาราวานรถยนต์ที่มีสมรรถนะสูงอย่างรถซูเปอร์คาร์ หรือกึ่งซูเปอร์คาร์ และรถจักรยานยนต์ประเภทบิ๊กไบก์ซึ่งมีมากในสิงคโปร์ และมาเลเซีย

ด้านจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นั้น นายกฤษฎากล่าวว่า ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคใต้ของไทย ไล่มาตั้งแต่กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมาในแถบภาคกลาง ภาคเหนือภาคตะวันออก โดยฤดูที่นิยมเดินทางคือฤดูร้อนของไทยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาวนักท่องเที่ยวกลุ่มที่นิยมการผจญภัยก็จะนิยมขับขี่ยานพาหนะขึ้นไปทางภาคเหนือ เพื่อเก็บเร็กคอร์ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางท้าทายที่ได้รับความนิยมอย่างเส้นทาง 1,864 โค้งที่แม่ฮองสอน นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวจากคาราวานรถยังนิยมที่จะเดินทางเข้ามาช่วงสั้น ๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ รวมถึงวันหยุดตามเทศกาลต่าง ๆ อาทิ วันฮารีรายอ วันตรุษจีน วันคริสต์มาส ฯลฯ

นายกฤษฎากล่าวต่อไปว่า ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาด้วยรถยนต์ประมาณ 10,000 คัน และเดินทางเข้ามาด้วยรถจักรยานยนต์ประมาณ 15,000 คัน ถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีการจับจ่ายใช้สอยสูง มาเพื่อการช็อปปิ้ง นิยมซื้อของโอท็อป ผลไม้ และอาหารกลับบ้าน เนื่องจากสามารถบรรทุกขึ้นรถได้สบาย ไม่ถูกจำกัดด้วยน้ำหนักของกระเป๋าเหมือนการเดินทางด้วยเครื่องบิน โดยต่อหนึ่งคันรถยนต์มีปริมาณการจับจ่ายใช้สอยอยู่ที่ 30,000 บาท และขยับลงมาเป็น 20,000 บาทสำหรับรถจักรยานยนต์

“นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังจ่ายสูง สามารถจับจ่ายใช้สอยได้เป็นจำนวนมาก ในอนาคตเมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความคุ้นเคยกับประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มความถี่ในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วย เพราะสามารถเดินทางเข้ามาได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอคาราวานในบางโอกาส ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยว

กลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก ททท.จึงได้สนับสนุนทางการตลาดด้วยการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการสอบถามเส้นทาง แนะนำโชว์ท้องถิ่น และอื่น ๆ” นายกฤษฎากล่าว

ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เชื่อว่าหลังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ชาวต่างชาติในประเทศที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 30 วัน เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐ ซึ่งเดินทางเข้าประเทศผ่านช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบกสามารถเข้ามาในไทยด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อปีปฏิทิน จากเดิมได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี จะมีผลให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปในระยะยาวจากที่เพิ่มต่อเนื่องอยู่แล้วตอนนี้