หนุนท่องเที่ยว “อาเซียน” สู่ Single Destination

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีนี้ ทุกภาคส่วนล้วนขานรับและเดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อโอกาสในการบรรลุข้อตกลงอาเซียน เช่นเดียวกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้มหาศาลให้กับภูมิภาค ได้ร่วมกันจัดงาน “ASEAN Tourism 2019 : Advancing Partnership for Sustainability” ขึ้น

โดย “กลินท์ สารสิน” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยสร้างรายได้กว่า 20% ของ GDP และเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่ออุตสาหกรรมการเกษตร ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประชากรทั่วประเทศ ดังนั้น เนื่องในโอกาสที่ปี 2562 ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นประธานการจัดงานสุดยอดผู้นำอาเซียน ทางสภาหอการค้าฯจึงมีเป้าหมายที่จะผลักดันการท่องเที่ยวให้กระจายออกสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวอาเซียนให้เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันในอนาคต

“ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้อธิบายถึงความสำคัญของตลาดอาเซียนที่มีต่อประเทศไทยว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกชาติอาเซียนจำนวนกว่า 10 ล้านคน ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยว และหลายประเทศยังได้สร้างสถิติใหม่ขึ้นในปีที่ผ่านมา อาทิ นักท่องเที่ยวมาเลเซียเยือนไทยมากกว่า 4 ล้านคน นักท่องเที่ยวเวียดนามเยือนไทยมากกว่า 1 ล้านคน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นนั้นมาพร้อมกับความท้าทายที่มากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากอาเซียนนิยมท่องเที่ยวระยะสั้น หรือที่เรียกว่า microcation ระหว่าง 24-72 ชั่วโมงมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงชื่นชอบที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเวลา

นอกจากนั้น หลายชาติทั่วโลกยังมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้เที่ยวภายในประเทศอีกด้วย ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวต้องพยายามปรับตัว เพื่อตามให้ทันเทรนด์อยู่ตลอดเวลา

Advertisment

ขณะที่ “มิ่งขวัญ เมธเมาลี” ประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวอาเซียน (ASEANTA : ASEAN Tourism Association) บอกว่า ASEANTA มีหน้าที่รวบรวมองค์กรท่องเที่ยว (NTOs) ในทุกประเทศและสนับสนุนยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน โดยทำบทบาทด้านการท่องเที่ยวให้เป็นจริง พร้อมทั้งจัดแพ็กเกจเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้อาเซียนเป็นเดสติเนชั่นเดียวกัน หรือ ASEAN as Single One, Single Destination

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายผลักดันอาเซียนให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หรือ Accessible Tourism โดยมุ่งหวังให้ทั้งผู้สูงอายุหรือคนพิการก็สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง ภายในปี 2568 ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน พ.ศ. 2559-2568 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับที่ประเทศไทยและหลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้

ด้าน “อูเด็ด สุวันนะวง” ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมลาว มองว่า แม้ว่าการท่องเที่ยวจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อภูมิภาคอาเซียน ที่มีทรัพยากรหลากหลายและมีศักยภาพเหมาะสมในการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวของคนทั่วโลก

โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากอย่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมากลุ่มสมาชิกอาเซียนยังไม่มีการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ และยังไม่มีการประสานงานเพื่อความเป็นจุดหมายปลายทางเดียวแห่งอาเซียน

Advertisment

ดังนั้น หากต้องการที่จะยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาเซียน จะต้องมีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย พัฒนาทั้งการคมนาคมทางบก ทางอากาศ สร้างมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาคขึ้น

ขณะที่ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร “ไทยแอร์เอเชีย” อธิบายว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าของการวางโครงสร้างพื้นฐานในไทย และในเอเชีย ได้เดินหน้ามากว่าครึ่งจนทำให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจะสามารถกระจายสู่ทุกแห่งและก่อให้เกิดความเชื่อมโยงได้ง่ายกว่า หากว่าการเดินทางทางอากาศสามารถเข้าถึงเมืองเหล่านั้นได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยเมืองหลวงเป็นจุดเปลี่ยนเครื่อง

“ถ้าเรามีสนามบินที่สามารถรองรับเที่ยวบินนานาชาติได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน เราจะกระจายโอกาสในการท่องเที่ยวออกไปยังเมืองอื่น ๆ นอกจากเมืองท่องเที่ยวหลักมากยิ่งขึ้นได้ รวมถึงมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางด้านการท่องเที่ยวผ่านการคมนาคมทางอากาศออกไปทั่วภูมิภาค”

สอดรับกับ “วัฒนา โชคสุวณิช” กรรมการบริหาร อีเอเอส แมริไทม์ เอเจนซี่ (ประเทศไทย) ที่กล่าวว่า จากมูลค่ามหาศาลของการท่องเที่ยวผ่านทางทะเลด้วยเรือสำราญ รวมถึงความนิยมท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญของนักท่องเที่ยวเอเชียที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกหลายประเทศ ทำให้การพัฒนาคุณภาพของการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญเพื่อสร้างรายได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ 10 ชาติอาเซียนควรจะลงมือลงแรงร่วมกันพัฒนาทั้งเส้นทางและท่าเรือเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ

ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาค “อาเซียน” พร้อมทั้งมีเป้าหมายสร้างความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งภูมิภาคเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวอาเซียนให้เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันในอนาคตนั่นเอง…