พุทธพาณิชย์ “ทัวร์จีน” ความเชื่อ ความศรัทธา (หรือ) ขบวนการหลอกลวง ?

เป็นข่าวอื้อฉาวในวงการพระพุทธศาสนาและวงการทัวร์อีกระลอก สำหรับกรณีวัดดังในเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งที่เปิดให้บริษัททัวร์จีนเข้าไปเช่าสถานที่ทำธุรกิจเปิดเช่าพระให้นักท่องเที่ยว แลกกับผลประโยชน์ตอบแทนสูงเป็นหลักล้านบาทต่อเดือน

ประชาชาติธุรกิจ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พูดคุยกับคนในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวหลายคนถึงที่มา ที่ไป รวมถึงขบวนการของธุรกิจเช่าพระสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้อย่างน่าสนใจ

เจ้าของบริษัททัวร์รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า เรื่องการขายพระ เช่าพระให้กับนักท่องเที่ยวนั้นในแวดวงของการท่องเที่ยวนั้นทำกันมาเป็น 10-20 ปีแล้ว หลายคนร่ำรวยเป็นเจ้าของบริษัทนำเที่ยว เป็นเจ้าของเรือท่องเที่ยว และเป็นเจ้าของร้านจิวเวอร์รี่ใหญ่โตในวันนี้

 “ฮ่องกง-ไต้หวันจุดเริ่มต้นขบวนการ

เริ่มต้นจากตลาดฮ่องกง ไต้หวัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศรัทธาพระไทยอย่างมาก เวลามาเที่ยวเมืองไทยก็เลยอยากเช่าพระ ไกด์นำเที่ยวก็สบโอกาส มองเป็นธุรกิจ ว่า ถ้าปล่อยให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้ไปเช่าเองก็จะดูไม่ “ขลัง” ก็เลยปิ๊งไอเดียพานักท่องเที่ยวไปเช่าพระที่วัดเลย วัดก็จ่ายค่าคอมมิชชั่นให้ใกด์นิดๆ หน่อยๆ

ในยุคนี้ บริษัททัวร์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง

หลังจากนั้นตลาดไต้หวันก็ทำเป็นธุรกิจมากขึ้น โดยมีคนแต่งตัวเป็นคนขายพระ พร้อมอ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย นิมนต์พระขึ้นไปขายบนรถทัวร์ เสิร์ฟกันถึงที่แทนวิธีการเดิมที่นักท่องเที่ยวต้องไปเช่าที่วัด

โดยต้นตำรับ หรือคนแรกที่ทำการขายพระเครื่องให้นักท่องเที่ยวในยุคนั้นคือ เจ้าของเรือนำเที่ยวรายใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะนี้

พร้อมให้ข้อมูลอีกว่าคนที่ขายพระอย่างชัดเจนหลักๆ มีประมาณ 2-3 คน สุดท้ายพวกนี้กลายเป็นบริษัททัวร์ใหญ่โต มีชื่อเสียง พูดไปใครๆ ก็รู้จัก แต่เป็นคนที่ไม่มีบัตรประชาชน หนีมาจากจีนบ้าง ไต้หวันบ้าง ก่อนที่จะมาได้บัตรประชาชนเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนก็โอนสัญชาติมา

แต่มีอยู่คนหนึ่งตั้งเป็นบริษัททัวร์และกลายมาเป็นกลุ่มขายพระที่วัดแบบคนจีนมากระทั่งทุกวันนี้

พูดง่ายๆ ก็คือว่า เดิมทีเดียวรูปแบบและวิธีการขายพระเครื่องนั้น ราคาก็ไม่ได้โหดร้ายมากนักแต่ก็ถือว่า แพง

จีนจุดเริ่มต้นของการตลาดแบบมีกลยุทธ์

พอธุรกิจนี้ลามเข้าสู่ตลาดคนจีน คนจีนจะหัวใสกว่า พวกนี้จะไปหาวัดในเมืองท่องเที่ยวหลัก ไม่ว่าจะเป็นพัทยา (ชลบุรี), เชียงใหม่, ภูเก็ต ฯลฯ  เมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำธุรกิจเป็นขบวนการ ตั้งราคาแพงเป็น 10-20 เท่าตัว

ที่สำคัญเริ่มใช้การตลาดแบบมีกลยุทธ์ที่สร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่น นิมนต์พระสงฆ์มานั่งพรมน้ำมนต์ และใช้สถานที่วัดเป็นที่ขายเลย แล้วก็ขายแพงมาก ส่วนของวัดใกด์ก็จะใส่เงินถวายพระนิดหน่อย

เรียกว่า ใช้วิธีการขายแบบไม่มีจริยธรรม หลอกนักท่องเที่ยวว่ากรอบพระเป็นทองจริง หรือบางแห่งไม่เปิดราคาให้ดูก่อน พอนักท่องเที่ยวชอบก็บอกว่าจะเอาพระองค์นั้นไปปลุกเสก หรือทำให้ขลัง ซื้อไปแล้วจะได้โชคดีมีชัย กลับมาอีกทีแจ้งราคาเป็นหลักหมื่นก็มี และอีกหลายต่อหลายวิธีที่นำมาเสนอ

ถ้านักท่องเที่ยวไม่ซื้อก็จะบอกว่าเอาไปปลุกเสกมาแล้วต้องซื้อ ถ้าไม่ซื้อดวงจะไม่ดี หรือชีวิตจะตกต่ำ ฯลฯ

นักท่องเที่ยวบางคนจำใจต้องกลืนน้ำตาซื้อ

กลุ่มที่ทำกันจริงจังเป็นการเป็นงาน ร่ำรวย มาที่สุดคือ กลุ่มที่ไปเปิดบริษัททัวร์ “ทรานลี่ ทราเวล” หรือ “ไท่ลี่ ทราเวล” จังหวัดภูเก็ต ที่ถูกดำเนินคดียึดทรัพย์เมื่อครั้งประเทศไทยเราทำการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญเมื่อปี 2558-2559

จากที่เอาพระจริงๆ มานั่งพรมน้ำมนต์ พานักท่องเที่ยวไปเช่าที่วัดจริงๆ เดี๋ยวนี้บริษัททัวร์หลายแห่งไปเช่าที่วัดสร้างอาคารขึ้นมาสำหรับเปิดขายพระและ “เชือด” นักเที่ยวโดยเฉพาะ

พระเกจิดังไทยมีขายยันใน อาลีบาบา

เจ้าของบริษัททัวร์อีกรายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้รูปแบบการขายพระให้นักท่องเที่ยวยังเจาะเข้าถึงชาวต่างชาติผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย

กล่าวคือ ไม่เพียงแค่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยแล้วเจอตามที่เป็นข่าวเท่านั้น พระเกจิดังๆ ของเมืองไทยยังสามารถดึงดูดพลังศรัทธาของชาวจีนได้อีกเป็นจำนวนมาก

วันนี้ พระดังๆ ที่มีชื่อเสียงของไทยยังถูกนำสร้างสตอรี่แล้วนำไปขายผ่านช่องทางอินเตอร์ และในอาลีบาบา ซึ่งเป็นเว็บไซต์อันดับต้นๆ ของจีนก็มี

เรียกว่า ยุคนี้เป็นยุคที่บริษัททัวร์เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเต็มรูปแบบ

ประเด็นสำคัญในวันนี้คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร มาตรฐานราคาของ “พระ” นั้นก็ยากที่จะกำหนด เพราะ “พลังศรัทธา” ของคนเราต่างกัน หรือว่าประเทศไทยจะปล่อยให้ชาวต่างชาติมาใช้ทรัพยากรของประเทศไปทำมาหากินแบบไร้จริยธรรมแบบนี้ต่อไป !!?