ทุนใหญ่แห่ปักธง “มัลดีฟส์” รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่

หลังผู้นำธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ไทยทุ่มลงทุนใน “มัลดีฟส์” ส่งผลให้การแข่งขันเกิดความรุนแรง แต่สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจบริการไทยและสิงคโปร์อย่าง “สิงห์เอสเตท-เอชพีแอล” กลับมองเห็นเป็นโอกาส

พร้อมทั้งย้ำและหนุนให้ภาพ “มัลดีฟส์” สู่แหล่งท่องเที่ยวของคนทุกกลุ่ม โดยมองว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงไปต่อได้กับหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดีย

“เดร์ค เดอ คุยเปอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสโฮเทลแอนด์รีสอร์ท เครือบริษัท สิงห์เอสเตท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร “ทราย ลากูน มัลดีฟส์” (SAii Lagoon Maldives) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาพรวมการท่องเที่ยวของมัลดีฟส์กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบ กลุ่มนักท่องเที่ยวมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น มีนักท่องเที่ยวที่มาจากกลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มเดินทางคนเดียว ฯลฯ จากอดีตที่เป็นกลุ่มคู่รักและฮันนีมูนเป็นหลัก

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเดินทางและการปรับตัวของผู้ให้บริการในมัลดีฟส์ที่มีราคาจับต้องได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับที่ “ทราย ลากูน มัลดีฟส์” ที่เลือกวางโพซิชั่นในฐานะแบรนด์ระดับอัพเปอร์ อัพสเกล ที่กำหนดราคาค่าห้องพักเริ่มต้นที่ 300-850 เหรียญสหรัฐหรือราว 9,000-25,000 บาทต่อคืน

“การแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวก็ไม่ได้รุนแรงนัก เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่จำนวนมากอยู่ทั่วโลก และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวหลากหลาย”

ส่วนในแง่ของอุปทานนั้น ปัจจุบันมัลดีฟส์มีจำนวนโรงแรมและรีสอร์ตกว่า 200 แห่งที่มีโพซิชั่นและรูปแบบของแบรนด์ที่แตกต่างกันไป ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างกลุ่มกัน รวมถึงมัลดีฟส์เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ยังมีดีมานด์จากนานาชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ให้บริการโรงแรมและรีสอร์ตจากไทยก็มีอยู่หลายเจ้า โดยส่วนมากอยู่ในโพซิชั่นลักเซอรี่เกือบทั้งหมด แตกต่างจากโพซิชั่นของ “ทราย ลากูน มัลดีฟส์” ที่จับต้องได้ง่ายกว่า

เมื่อรวมกับความโดดเด่นของ “ทราย ลากูน มัลดีฟส์” ที่ตั้งอยู่ในโครงการครอสโรด บนพื้นที่ของเอ็มบูดูห์ลากูน (Emboodhoo Lagoon) ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลาย ตั้งแต่ช็อปปิ้งมอลล์ไปจนถึงศูนย์ความรู้ทางทะเล ฯลฯ ทำให้รีสอร์ตแห่งแรกของ “ทราย” ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวหัวใจมิลเลนเนียลที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวมัลดีฟส์

เช่นเดียวกับ “แองเจลีน โลห์” ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารการตลาด เอชพีแอล โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต ผู้บริหารรีสอร์ต กิลิ ลังกันฟูชิ ที่บอกว่า แม้การแข่งขันของธุรกิจการให้บริการในพื้นที่มัลดีฟส์จะสูง แต่ทางบริษัทเชื่อว่าความพยายามในการยกระดับการให้บริการแขกผู้เข้าพักมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจเลือกแบรนด์เสมอ

ทาง “กิลิ ลังกันฟูชิ” จึงได้มอบบริการอย่างใกล้ชิดให้กับแขก โดยปัจจุบันมีพนักงาน 3 คนต่อแขก 1 คน เพื่อการให้บริการที่ใกล้ชิดที่สุด

ทั้งนี้ เอชพีแอล โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีปัญหา แต่ตลาดไทยยังคงมีศักยภาพในการส่งนักท่องเที่ยวสู่พื้นที่มัลดีฟส์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นนักท่องเที่ยวเฉพาะที่ยังคงออกเดินทางอยู่เรื่อย ๆ ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาโดยตรงต่อตลาด

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวขยับเวลาในการจองโรงแรมออกไปจาก 6 เดือนเหลือเพียง 2-3 เดือนล่วงหน้าเท่านั้น