“พิพัฒน์” จ่อคิกออฟมาตรการหนุนเที่ยวในประเทศ

Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

“รมว.พิพัฒน์” ส่งสัญญาณเตรียมคิกออฟมาตรการหนุนคนไทยเที่ยวไทยมีนาคมนี้ หวังสร้างการหมุนเวียนเม็ดเงินเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์ นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ชี้มีเสน่ห์-อัตลักษณ์ ด้าน อพท.เผยมีชุมชนพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลคาดว่าจะสามารถควบคุมให้สถานการณ์การท่องเที่ยวกลับเป็นปกติได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ หรือในอีก 5 เดือนข้างหน้า โดยประเมินว่าในส่วนของภาคการท่องเที่ยวจะสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างประเทศให้เดินทางกลับมาเที่ยวประเทศไทยได้ราวเดือนกรกฎาคม 2563 นี้

นายพิพัฒน์กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯมีเวลาประมาณ 6 เดือน สำหรับมองหาตลาดภายในประเทศเข้ามาชดเชยรายได้ที่ประเทศไทยต้องสูญเสียไป ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมของเด็กนักเรียนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน จึงมีแนวคิดที่จะออกแคมเปญส่งเสริมคนไทยเที่ยวในประเทศ ด้วยการตอกย้ำแคมเปญ “ไทยเที่ยวไทย คือ ไทยเท่” โดยจะเริ่มภายในเดือนมีนาคมนี้

“สำหรับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้นเราจะเน้นให้ทุกฟันเฟืองในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้กระทบแค่กับบริษัทนำเที่ยว แต่กระทบทั้งระบบตั้งแต่มัคคุเทศก์ รถนำเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ ถ้าเราพร้อมใจกันออกมาท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้ เชื่อว่า ยอดรายได้รวมทั้งอุตสาหกรรมจะลดลงจากปีก่อนไม่มากนัก”

นายพิพัฒน์ยังกล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวในชุมชนต่าง ๆ เป็นทางเลือกหนึ่งที่อยู่ในกระแสความสนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งชุมชนที่พัฒนาโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ถือเป็นชุมชนที่มีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว มีทั้งที่พักแบบโฮมสเตย์ มีกิจกรรมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้ทดลองลงมือทำ อาทิ ชุมชนบ้านบ่อสวกจังหวัดน่าน หนึ่งในชุมชนที่ อพท.พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก็มีกิจกรรมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส มาเรียนรู้ เช่น ปั้นเครื่องปั้นดินเผา การทอผ้า การทำเครื่องจักสาน ผักปลอดสารพิษ และมีอาหารถิ่นที่รสชาติอร่อย ปรุงโดยเชฟชุมชนซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดที่จะต้องมาลิ้มลอง

การทำงานของ อพท.ที่พัฒนาชุมชนให้ทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมนั้น สามารถตอบโจทย์นโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ชุมชนมีความแข็งแรงทำงานมีเครือข่าย มีการให้บริการนักท่องเที่ยวแบบมืออาชีพ สามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมความเข้มแข็งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน

“ทางกระทรวงมีนโยบายนำโมเดลการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ อพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นน้ำ เป็นต้นแบบในการขยายผลพัฒนาชุมชนทั่วประเทศให้สามารถยกระดับเป็นชุมชนท่องเที่ยวได้ตามเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตัวเอง จากนั้นจะให้กรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหน่วยงานกลางน้ำจัดทำเรื่องมาตรฐาน และให้ ททท.ซึ่งเป็นหน่วยงานปลายน้ำ นำชุมชนที่พร้อมไปเสนอขายให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ” นายพิพัฒน์กล่าว

ด้านนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการอพท. กล่าวว่า ปัจจุบัน อพท.นอกจากจะมีชุมชนที่พัฒนาเป็นต้นแบบ จำนวน 14 ชุมชน กระจายอยู่ในพื้นที่พิเศษ ในจังหวัดน่าน, เลย, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, ตราด และเมืองพัทยา อพท.ยังมีอีก 100 ชุมชนขยายผลที่ผ่านการพัฒนาแล้วตามองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั้ง 9 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) และ อพท.ยังไม่หยุดที่จะนำองค์ความรู้ไปพัฒนาให้กับชุมชนอีกหลาย ๆ แห่งที่มีศักยภาพทั่วประเทศ เพื่อให้มีสินค้าและบริการนำเสนอนักท่องเที่ยวได้หลากหลาย