ธปท.เปิดผลสำรวจ 4 ธุรกิจซมพิษโควิด “ท่องเที่ยว” 1-2 ปี ฟื้นตัว

ท่องเที่ยวภาคใต้

วันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่าง ๆ (Business Liaison Program) พูดคุยกับผู้ประกอบธุรกิจในสาขาต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ในปัจจุบันและแนวโน้มในระยะต่อไป ทั้งในระดับภาพรวมและระดับธุรกิจ

โดยครอบคลุมทั้งธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ทั่วประเทศ โดย ธปท. ได้ประมวลข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ

​สำหรับ “รายงานแนวโน้มธุรกิจ” ไตรมาส1/2563 ของธปท. มองว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวในทุกกลุ่มธุรกิจ และผู้ประกอบการ 50% คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มแย่ลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า และแม้ว่าในไตรมาสแรกจะพบว่าภาพรวมธุรกิจจะอยู่ใน “ภาวะหดตัว” แต่ผู้ประกอบการมองว่าในไตรมาส 2 จะอยู่ในภาวะ “หดตัวมาก” ทั่วประเทศในทุกภูมิภาค

นอกจากนี้ธปท. ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้ประกอบการแต่ละอุตสาหกรรมทั่วประเทศ สะท้อนมุมอมงการปรับตัวและการฟื้นตัวใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้

ธุรกิจท่องเที่ยวใช้เวลาฟื้นตัว1-2ปี

ธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ปรับตัวได้ค่อนข้างยาก จากลักษณะของธุรกิจ เช่น สายการบิน โรงแรม หรือ สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น โดยบางส่วนปรับรูปแบบการบริการให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ โรงแรมหันมาทำอาหารขายดีลิเวอรี หรือรถขนส่งสาธารณะ เช่น แท็กซี่ หรือตุ๊กตุ๊กหันมาส่งสินค้าแทนการรับส่งผู้โดยสาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะกลับ มาได้เร็วสุดราว Q4/ 63 แต่อาจใช้เวลาอีก 1-2 ปี กว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยผู้ประกอบการมีแนวโน้มเน้นการทำตลาดและ ให้บริการหลากหลายมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง

ค้าปลีกชะลอลงทุนเปิดสาขาใหม่

กลุ่มธุรกิจค้าปลีกมีการขายบนแพลทฟอร์มออนไลน์ และ Social media มากขึ้น รวมถึงการทำ Content marketing เพื่อส่งเสริมการขาย รวมถึงเปลี่ยนมาเน้นขายสินค้าบางประเภท ที่มีความต้องการมากขึ้น เช่น เจลล้างมือ หน้ากาก อุปกรณ์ทำความสะอาด และอาหาร เป็นต้น

รวมถึงการนำเสนอบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน หรือมารับสินค้าโดย ไม่ต้องลงจากรถ (Drive thru pick up) มากขึ้น และการทำโปรโมชั่นที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้า

อย่างไรก็ตามสำหรับธุรกิจค้าปลีก คาดว่าจะสามารถ ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างเร็ว ราว Q4/ 63 จะเริ่มเห็นคนออกมาทำกิจกรรม นอกบ้านและจับจ่ายอย่างไร้กังวล ขณะที่ความนิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะ Virtual shopping มากขึ้น แต่การลงทุนเพื่อเปิดสาขาใหม่ในเมืองหลักอาจลดลง

ภาคผลิตกระจายความเสี่ยงแหล่งวัตถุดิบ

สำหรับ “อุตสาหกรรมการผลิต” เกือบทั้งหมดหดตัวในช่วงมาตรการล็อกดาวน์จากปัญหา Supply chain disruption โดยเฉพาะ SMEs ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันที อย่างไรก็ดี ผลกระทบแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ประเภทสินค้าและตลาด

ขณะที่ธุรกิจการผลิตบางรายมีการปรับตัวมาผลิต สินค้าที่เป็นความต้องการในช่วงของการระบาดโควิด-19 เช่นผู้ผลิตรถยนต์บางรายปรับไลน์การผลิต มาทำเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หันมาผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

โดยคาดว่าการผลิตจะทยอยกลับมาดีขึ้น เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ ประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลาย สะท้อนจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กลับมา ผลิตหลังโรงงานในจีนเริ่มเปิด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางพาราเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งคาดว่ากลับมาเป็นปกติได้อย่างเร็วใน Q4/63

ขณะเดียวกันภาคการผลิตมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงมากขึ้น เช่น หาแหล่งวัตถุดิบหลากหลายแห่ง ควบคู่กับการลงทุนใน Digital platform และ Automation เพื่อช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต

อสังหาฯ เบรกโครงการใหม่-ห่วงโอเวอร์ซัพพลาย

และสุดท้าย “ธุรกิจอสังหาฯ” จะพบว่ามีการจัดโปรโมชั่นเข้มข้นขึ้น เพื่อระบายสต็อก โดยมีการปรับตัวในช่วงมาตรการล็อกาวน์ หันมาจัดมหกรรมขายบ้านแบบออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ชะลอการเปิดตัวหรือลงทุนโครงการใหม่ เน้นการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการเพื่ออาศัยจริงมากขึ้น

สำหรับระยะเวลาการปรับตัวในภาคอสังหาฯ เนื่องจากมีความกังวลมากขึ้นกับอสังหาฯ ที่เหลือขาย (Oversupply) แต่เชื่อว่าจะดีขึ้นบ้าง หลังสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายลง