“ท่องเที่ยวไทย” ทำใจ ! ทอท.คาดอีก 2 ปี ผู้โดยสารพลิกฟื้น

นายนิตินัย-ศิริสมรรถการ
สัมภาษณ์

แม้รัฐบาลจะปลดล็อกน่านฟ้าให้เกิดการเดินทางภายในประเทศไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแต่การเปิดเส้นทางบินเฉพาะภายในประเทศก็ยังไม่เพียงพอสำหรับ “ต้นทุน” การดำเนินงานของผู้ประกอบการสายการบินในขณะนี้ เครื่องบินโดยสารของทุกสายการบินยังคงอยู่ในสถานะ “จอดนิ่งสนิท” ในลานจอดมากกว่าบินอยู่บนฟ้า ส่งผลให้ธุรกิจสนามบินได้รับผลกระทบอย่างหนักไปด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้บริหารสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, หาดใหญ่(สงขลา), ภูเก็ต, เชียงใหม่ และแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) ถึงการคาดการณ์การกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงแนวโน้มของธุรกิจการบินปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร จากที่เคยทำกำไรนิวไฮถึง2.5 หมื่นล้านในปี 2562 ที่ผ่านมาไว้ดังนี้

มั่นใจปี”63 ไม่ขาดทุน

“นิตินัย” บอกว่า ทอท.ได้พิจารณาผลกระทบตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19บอร์ดจึงออกมาตรการเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการใน 6 สนามบินของทอท.หลังได้รับผลกระทบจากยอดของผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นก็ได้ออกประกาศเยียวยาผู้ประกอบการเพิ่มเติมระลอกใหญ่อีกครั้งในเดือนเมษายน ทั้งในส่วนของสายการบินและพื้นที่เชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม สำหรับปีงบประมาณ 2563 นี้ยังมั่นใจว่าผลประกอบการของ ทอท.จะไม่ขาดทุน เนื่องจากปีงบประมาณของ ทอท.เริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งเป็นไตรมาสแรกเป็นช่วงไฮซีซั่น นับตั้งแต่วันโกลเด้นวีกของจีนในเดือนตุลาคม ต่อด้วยเทศกาล thanks giving ในเดือนพฤศจิกายน และต่อด้วยคริสต์มาส ปีใหม่ ต่อด้วยเทศกาลตรุษจีนในเดือนมกราคม ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 นี้มีมากเพียงพอสำหรับดูแลอีก 8 เดือนที่เหลือของปีได้

โดยในไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค. 62) มีรายได้รวม 29,498 ล้านบาท กำไร 10,982 ล้านบาท และไตรมาส 2 (ม.ค.-มี.ค. 63) มีรายได้รวม 12,328 ล้านบาท กำไร 3,647 ล้านบาท หากรวมครึ่งปีแรกที่ผ่านมาพบว่า ทอท.มีรายได้รวมตุนอยู่แล้วทั้งหมดกว่า 41,000 ล้านบาท และมีกำไรรวมกว่า 14,629 ล้านบาท

ชี้ปีหน้า “รายได้” ตกต่ำสุด

“นิตินัย” บอกว่า คำถามคือแล้วปีงบประมาณ 2564 จะเป็นอย่างไรตอบได้เลยว่า “เหนื่อย” เนื่องจากจะไม่มีช่วง 4 เดือนทองคำ (ต.ค. 63-ม.ค. 64)เกิดขึ้นแน่นอน วัคซีนก็ยังไม่มี ส่วนการเปิดท่องเที่ยวแบบ travel bubble นั้นถ้าเปิดจริงคนที่เข้ามาก็ยังถูกจำกัดเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น และจำนวนยังต่ำมากแค่หลัก 1,000-2,000 คนต่อวันเท่านั้น ไม่ใช่หลักแสนเหมือนทุกปีที่ผ่านมา

และหากปี 2564 จะมีวัคซีนออกมาก แต่ถ้าออกมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมก็ไม่ได้ช่วยมาก เพราะได้ผ่านช่วง4 เดือนทองคำไปเรียบร้อยแล้ว จึงประเมินได้ว่าปีหน้าจะเป็นปีที่หนักที่สุด ตัวเลขจะตกต่ำสุดทั้งในด้านรายได้และจำนวนผู้โดยสาร

“ผมเชื่อว่าวัคซีนไม่น่าจะมาช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีหน้า ต่อให้วัคซีนออกมาช่วงพฤศจิกายนหรือทันช่วงคริสต์มาสปีนี้ และทุกคนฉีดกันอย่างทั่วถึง แต่สายการบินต่าง ๆ ก็วางสลอตการบินล่วงหน้าของตารางบินฤดูหนาว (วินเทอร์) ไปเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น โอกาสที่ช่วง 4 เดือนทองคำของปี 2564 จะมีรายได้นั้นต่ำมาก ยกเว้นมีปาฏิหาริย์ว่าวัคซีนมาก่อนตุลาคม และทันสำหรับสายการบินวางสลอตการบินในตารางการบินเดือนตุลาคม”

จึงคาดการณ์รายได้ของงบประมาณปี 2563 ว่าจะลดลงจากปี 2562 ในอัตราราว 50.70% และปีงบประมาณ 2564 จะมีรายได้ลดลงจากปี 2563 อีกในอัตราราว 42.21%

คาดตุลาฯปี”65 ฟื้นเท่าปี”62

“นิตินัย” บอกอีกว่า โดยรวมตอนนี้ถ้าเทียบเดือนต่อเดือน หรือไตรมาสต่อไตรมาสจะพบว่าสถานการณ์ได้เลยจุดที่เรียกว่า “ต่ำสุด” มาแล้ว แต่ถ้าเทียบปีต่อปีเรายังต้องเผชิญปัญหาใหญ่ในปี 2564 โดยที่ผ่านมาที่ประชุมบอร์ดได้ทำการคาดการณ์รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้วว่าตุลาคม 2565 จำนวนผู้โดยสารของ ทอท.จะกลับมาเท่ากับปี 2562 โดยคาดการณ์ว่าในเดือนตุลาคม 2565 ทอท.จะมีเที่ยวบินรวม 761,800 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวม 108.87 ล้านคน คาดว่าในปีงบประมาณ 2566 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 902,200 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวม 144.20 ล้านคน ทั้งนี้ ตัวเลขประมาณนี้อยู่บนสมมุติฐานที่คาดว่ายังคงมีการระบาดระลอกที่ 2 ในหลายประเทศที่เป็นเป้าหมายในการทำข้อตกลงให้มีการเดินทางภายใต้มาตรการ travel bubble และรัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกำหนดพื้นที่กักกันโรคสำหรับผู้ที่มาต่างประเทศหรือ state quarantine กับหลายประเทศที่เป็นเส้นทางหลักของเที่ยวบินระหว่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้การเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารระหว่างประเทศยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

“คาดการณ์กันว่า การค้นพบวัคซีนและมีการจำหน่ายในเดือนกรกฎาคม 2564 จากนั้นเราจะสามารถควบคุมการระบาดทั่วโลก และทำให้เศรษฐกิจหลักของประเทศจะเริ่มฟื้นตัวช่วงต้นปี 2565 จนกลับมามีปริมาณการจราจรที่ระดับปกติของปี 2562 ในเดือนตุลาคม 2565”

เยียวยาถึงเมษาฯปี”65

ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.บอกด้วยว่าจากการคาดการณ์ดังกล่าวนี้คือคำตอบของมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและคู่สัญญาทั้งหมดของ ทอท.ถึงเดือนเมษายน 2565 เพราะเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ตามลำดับในช่วงต้นปี 2565เป็นต้นไป โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการรายไหนขายได้น้อยก็จ่ายให้ ทอท.น้อยรายไหนขายได้มากก็จ่ายให้ทอท.มากตามสัดส่วนยอดขาย

และสำหรับรายใหญ่ ทอท. ยังได้ยกเลิกการจ่ายอัตราขั้นต่ำ หรือminimum guarantee ด้วย แต่หลังจากเมษายน 2565 ทุกอย่างเริ่มกลับมา แม้จะยังไม่เท่าปี 2562 แต่ ทอท.จะเริ่มเก็บ minimum guarantee แล้ว เพราะเชื่อภาพรวมจะเริ่มกลับมาดีในช่วงตุลาคม 2565

แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเท่าปี 2562 ทอท.จะเก็บ minimumguarantee ในอัตราคงที่ (ปกติจะปรับขึ้นทุกปีตามปริมาณผู้โดยสาร และอัตราเงินเฟ้อ) แต่ถ้าจำนวนผู้โดยสารกลับมาได้เท่าปี 2562 เมื่อไหร่ทอท.ก็จะปรับขึ้นอัตราของ minimumguarantee ด้วย ซึ่งอันนี้เรียกว่า”back to game”

ยันเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง

“นิตินัย” ย้ำด้วยว่า แม้ว่าในช่วงปี 2563-2565 ปริมาณผู้โดยสารจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ แต่ ทอท.ยังคงเดินหน้าพัฒนาสนามบินในความดูแลตามแผนที่วางไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาคารแซตเทลไลต์ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีความล่าช้าในการเปิดให้บริการ เนื่องจากไวรัสโควิด-19ทำให้ขาดแคลนแรงงาน รวมถึงผู้เชี่ยวาญต่าง ๆ ที่ต้องบินเข้ามาทำงานก็ยังบินไม่ได้ หรือการรับรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM)ทอท.ก็ยังสั่งเหมือนเดิม เพียงแต่อาจมีความล่าช้าเพราะต้องส่งจากเยอรมนี เรือหยุดให้บริการ เป็นต้น

“นิตินัย” อธิบายว่า ที่ผ่านมา ทอท.ผ่านS-curve ลูกที่ 1 ไปแล้วในปี 2561-2562ซึ่งเป็นปีที่ ทอท.มีกำไรเติบโตมาตลอดจนถึงปีที่ผ่านมาที่ทำกำไรเป็นนิวไฮถึง2.5 หมื่นล้านบาท ตอนนี้การเติบโตต้องรอ S-curve ลูกที่ 2 ที่เป็นแผนในช่วงปี 2563-2568 โดยคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 จะแล้วเสร็จภายในปี 2565 จากนั้นโครงการพัฒนารันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ และการขยาย north expansionจะแล้วเสร็จราวปี 2567-2568

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างรอ S-curve ลูกที่ 2 นี้ เดิมทีเดียว ทอท.ได้วางแผนสร้างรายได้จากธุรกิจคาร์โก้, ศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (certify hub),แอร์พอร์ตซิตี้ รวมถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งได้เริ่มต้นวางแผนมาตั้งแต่ปี 2559-2560 แต่โควิด-19 ทำให้แผนต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

“ปัญหาตอนนี้คือ S-curve ลูกที่ 1ที่เคยเต็มคาพาซิตี้แล้วกลับมาโล่งโจทย์ตอนนี้คือเราจะบูรณะอย่างไรขณะเดียวกัน ก็ต้องเดินหน้าสร้าง S-curve ลูกที่ 2 ไปพร้อม ๆ กันด้วย”

เตรียมเข้าลงทุนใน TG

พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่า อีกประเด็นที่ ทอท.ต้องพิจารณาและเตรียมพร้อมรองรับ คือ ปัญหาของบริษัทการบินไทย (TG) โดยมองว่าจะทำอย่างไรหากการบินไทยซึ่งอยู่ในกระบวนการเตรียมทำแผนฟื้นฟูไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เต็มรูปแบบเหมือนเดิม

โดยเฉพาะใน 4 ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องการให้บริการในสนามบินประกอบด้วย1.ธุรกิจซ่อมบำรุง หรือ MRO 2.ธุรกิจให้บริการภาคพื้น หรือ groundservice ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 ธุรกิจนี้มีผู้ให้บริการอยู่เพียง 2 ราย คือเวิลด์ไวด์ไฟลต์ เซอร์วิสเซส (WFS)ของกลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส และการบินไทยเท่านั้น 3.ธุรกิจขนส่งสินค้าหรือคาร์โก้ และ 4.ธุรกิจแคเทอริ่งอาหารส่งให้กับสายการบินในเครือสตาร์อัลไลแอนซ์

ทั้ง 4 ธุรกิจนี้ถ้ามีปัญหา ทอท.ในฐานะผู้ให้บริการก็คงต้องเตรียมพร้อมรับมือเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ ICAO โดยเฉพาะธุรกิจซ่อมบำรุง, ให้บริการภาคพื้น และคาร์โก้ ซึ่งขณะนี้บอร์ดเห็นชอบในหลักการแล้ว และได้เตรียมเงินลงทุน พาร์ตเนอร์ไว้รองรับแล้ว