KKP Research ชี้ท่องเที่ยวปีนี้มีโอกาสฟื้น แตะ 5.8 ล้านคน

นักท่องเที่ยว
แฟ้มภาพ Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

KKP Research ชี้โอมิครอนกระทบเศรษฐกิจระยะสั้น-ท่องเที่ยวมีโอกาสฟื้นตัว คาดนักท่องเที่ยวแตะ 5.8 ล้านคน เชื่อภาคบริโภค-ท่องเที่ยวเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เตือนหากโอมิครอนระบาดรุนแรง ภาคท่องเที่ยวกระทบหนัก ฟื้นตัวพลาดเป้า

วันที่ 28 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “จับตาความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 2022 : Omicron กระทบเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน ?” โดย KKP Research ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ยังมีโอกาสฟื้นตัว

โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน คือ ในกรณีฐานอาจจะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในระยะสั้น จากทั้งความระมัดระวังของผู้บริโภคและมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ แต่จะไม่นำไปสู่การปิดเมืองแบบรุนแรงเหมือนการระบาดในรอบก่อน ๆ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดในช่วงปี 2021 จะพบว่าการบริโภคและการลงทุนการระบาดหดตัวลงประมาณ 3-4% และ 2-3% ตามลำดับในเดือนที่มีการระบาดของโควิด-19

รายงานยังระบุว่า การระบาดที่มีแนวโน้มจบลงได้เร็ว อาจชะลอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไปบ้าง แต่น่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ และกระทบต่อตัวเลขประมาณการทั้งปีไม่มากนัก ซึ่ง KKP Research คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2565 จะมีจำนวน 5.8 ล้านคนในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นหลัก

สำหรับผลกระทบจากการระงับโครงการ Test & Go KKP Research มองว่าไม่น่าจะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งปีหากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว ซึ่งปัจจุบันมีการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการ Test & Go อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถกลับเข้ามาได้เร็วกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ เป็นสัญญาณว่าหากไม่มีการระบาดของโควิดภาคการท่องเที่ยวน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี

ในภาพรวม KKP Research ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 น่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 3.9% ซึ่งถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการหดตัวในปี 2563 ที่ 6.1% และปี 2564 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาเพียง 0.9% โดยเมื่อพิจารณาการคาดการณ์การบริโภคและการท่องเที่ยว ยังถือเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิดไปตลอดทั้งปี และยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงหากสถานการณ์ระบาดยืดเยื้อหรือมีการระบาดรอบใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

KKP Research ประเมินว่าแม้ความความเสี่ยงจาก Omicron จะมีไม่มาก แต่อาจต้องจับตามองความเสี่ยงในอีก 2 ประเด็นที่อาจนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น คือ 1.แม้ว่าสัดส่วนการป่วยหนักและเข้าโรงพยาบาลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดจะลดลง แต่การระบาดที่เกิดได้ง่ายขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขได้ในระยะสั้น และเป็นประเด็นท้าทายต่อการจัดการของภาครัฐ

2.นโยบายภาครัฐในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขมีความสำคัญต่อผลกระทบของการระบาด เช่น หากมีนโยบายให้คนติดเชื้อที่ความเสี่ยงต่ำ มีอาการน้อย เช่น คนอายุน้อย ต้องรักษาในโรงพยาบาล อาจทำให้ระบบสาธารณสุขถึงขีดจำกัดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และคนสูงอายุที่มีแนวโน้มมีอาการหนักกว่าไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้

ส่วนในกรณีเลวร้ายที่การระบาดนำไปสู่การปิดเมือง KKP Research ประเมินว่า จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักและสร้างความท้าทายมหาศาลให้กับภาครัฐในการจัดการกับเศรษฐกิจ จากผลกระทบหลักคือ การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีก และจะส่งผลสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบหนัก คือ ที่พักและอาหาร การขนส่ง และการค้า

และผลกระทบที่น่ากังวลที่สุดจะเกิดจากการท่องเที่ยว ที่หากไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ตามคาด โดยหากนักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับเข้ามาในปีนี้ได้จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่ง KKP Research คาดการณ์ว่า ในกรณีนั้น เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้น้อยกว่า 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน