“บางกอกแอร์เวย์ส” เร่งเสริม “สภาพคล่อง” รับการบินฟื้น

บางกอกแอร์เวย์ส

จากข้อมูลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO : International Civil Aviation Organization ระบุว่าตั้งแต่อดีตถึงปี 2562 จำนวนผู้โดยสารของสายการบินทั่วโลกขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะประสบกับหลากหลายปัญหา อาทิ สงครามอิหร่าน-อิรัก, เหตุการณ์ 911, โรคซาร์ส, วิกฤตการเงินโลก ฯลฯ

แต่ปี 2563-2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตโควิด ทำให้จำนวนผู้โดยสารทั่วโลกชะงักและตกลงอย่างชัดเจน หรือลดลงไปอยู่ในระดับเมื่อ 20 ปีก่อน

คาดอีก 2 ปีฟื้นกลับมาเท่าปี’62

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บอกว่า จากการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA : International Air Transport Association) ระบุว่า วิกฤตโควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินหนักและยาวที่สุด เมื่อเทียบกับวิกฤตอื่น ๆ ที่ผ่านมา

กล่าวคือ วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 จำนวนผู้โดยสารแกว่งเล็กน้อยวิกฤต 911 ปี 2001 และวิกฤตโรคซาร์ส ปี 2003 ผลกระทบหนักในช่วง 2-3 เดือนแรกเท่านั้น และยาวสุดแค่ประมาณ 5-6 เดือน แต่วิกฤตโควิดรอบนี้กระทบรุนแรงและนานตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและก็ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

ทั้งนี้ IATA คาดการณ์ว่า ภาพรวมของผู้โดยสารระหว่างประเทศจะกลับมาได้ประมาณ 69% ในปี 2565 และเป็น 82% ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 92% ในปี 2567

Advertisment

โดยในส่วนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้นประเมินว่าจะกลับมาได้ประมาณ 68% ในปี 2565 และ 84% ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 97% ในปี 2567

ขณะที่ในภูมิภาคยุโรปคาดว่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยประเมินว่าจะกลับมาได้ประมาณ 96% ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 105% ในปี 2567

สรุปคร่าว ๆ ก็จะประมาณ 2 ปีกว่าที่ธุรกิจการบินจะกลับมาพลิกฟื้นได้เท่ากับปีก่อนวิกฤตโควิด แต่ในส่วนของตลาดโดเมสติกในแต่ละประเทศน่าจะกลับมาได้เร็ว โดยคาดว่าปีหน้าน่าจะกลับมาได้เกือบ 100%

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศด้วยว่า การเดินทางภายในประเทศเป็นอย่างไร และมีมาตรการอย่างไรบ้างด้วย

Advertisment

“สมุย” ครองรายได้สูงสุด

สำหรับ “บางกอกแอร์เวย์ส” นั้น ในปี 2564 ธุรกิจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ตั้งแต่ต้นปีที่พบการแพร่ระบาดรอบ 2 และรอบ 3 (เดลต้า) ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทำให้ธุรกิจการหยุดบินในบางเส้นทางตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล

“ภาพรวมการเดินทางของเราลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนสิงหาคม จากนั้นได้เปิดให้บริการเส้นทาง sealed route เพื่อสนับสนุนนโยบายเปิดประเทศ ได้แก่ ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และสมุยพลัส จนกระทั่ง
พฤศจิกายนผู้โดยสารทยอยเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศ”

โดยเส้นทาง “สมุย” ยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารอยู่ที่ 63% ของรายได้ผู้โดยสารทั้งหมด

เส้นทางภายในประเทศอื่น ๆ มีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารอยู่ที่ 35% และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กรุงเทพฯ-พนมเปญ ที่เปิดปฏิบัติการบินเมื่อเดือนธันวาคม มีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารอยู่ที่ 2% ของรายได้ผู้โดยสารทั้งหมดในปี 2564

ฟื้นเส้นทางบินทั้งใน ปท.-ตปท.

สำหรับปี 2565 นี้คาดว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวประมาณ 40% โดยเส้นทางบินที่จะเปิดเพิ่มเติมในปีนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ-กระบี่ ซึ่งจะเปิดให้บริการ 27 มีนาคมนี้ ส่วนในไตรมาสที่ 3 ได้แก่ เส้นทางการบินสมุย-เชียงใหม่, สมุย-ฮ่องกง, กรุงเทพฯ-เสียมราฐ

และไตรมาสที่ 4 จะเปิดเส้นทางบิน เชียงใหม่-กระบี่ (เที่ยวเดียว) เชียงใหม่-ภูเก็ต (เที่ยวเดียว) สมุย-กระบี่, กรุงเทพฯ-ดานัง, กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง, กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง และกรุงเทพฯ-มัลดีฟส์

อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินต่าง ๆ นั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยว มาตรการการเดินทางของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน

เพิ่มรายได้ “คาร์โก้-เช่าเหมาลำ”

สำหรับฝูงบินนั้น ในช่วงก่อนวิกฤต “บางกอกแอร์เวย์ส” มีฝูงบิน 40 ลำ ปี 2563 ลดไป 1 ลำ และปี 2564 ลดไปอีก 2 ลำ โดยจำหน่ายออกไปตามอายุสัญญา

และภายในสิ้นปี 2565 นี้จะทยอยคืน Airbus A320 อีก 5 ลำ ซึ่งครบกำหนดสัญญา รวมถึงจำหน่ายเครื่องบิน ATR72-500 อีก 2 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้จะมีเครื่องบินในฝูงบินทั้งสิ้น 30 ลำ แต่ปัจจุบัน “บางกอกแอร์เวย์ส” ทำการบินเพียง 19 ลำเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมุ่งเน้นขยายการให้บริการในส่วนของธุรกิจขนส่งสินค้า หรือ “แอร์คาร์โก้” เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ให้บริการคาร์โก้อยู่ประมาณ 1 ตันต่อวัน จากกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังจะเน้นให้บริการในส่วนของเครื่องเช่าเหมาลำ หรือ “เที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์” ด้วย เนื่องจากยังมีเครื่องบินที่ไม่ได้ทำการบินอยู่จำนวนหนึ่ง

คาดผู้โดยสารปีนี้ 2.6 ล้านคน

สำหรับในส่วนของจำนวนผู้โดยสารนั้น “พุฒิพงศ์” บอกว่า ในปี 2564 “บางกอกแอร์เวย์ส” มีจำนวนผู้โดยสาร 5.4 แสนคน ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 72%

ในปี 2565 นี้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 2.6 ล้านคน และมีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสาร 8,175 ล้านบาท รวมเที่ยวบินกว่า 3.4 หมื่นเที่ยวบิน มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 65% และราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวคาดว่าจะอยู่ที่ 3,100 บาทต่อเที่ยว

และกลับมาเปิดเส้นทางบินทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศได้อีกครั้ง

“น้ำมัน” ยังไม่กระทบต้นทุน

สำหรับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันนั้น “พุฒิพงศ์” อธิบายว่า ยังไม่ถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานมากนัก โดยในช่วงปีปกติบางกอกแอร์เวย์สมี “ต้นทุนน้ำมัน” คิดเป็นประมาณ 30-35% ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด แต่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนประมาณ 10%

“ปี 2565 นี้ยังถือว่าเป็นปีไม่ปกติ โควิดยังกระทบต่อทราฟฟิกและจำนวนการใช้น้ำมัน โดยต้นทุนหลักคือ ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าพนักงาน และอื่น ๆ”

อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้รัฐบาลโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาให้สายการบินเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ fuel surcharge ของเส้นทางบินในประเทศได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน ตามข้อเสนอของสมาคมสายการบินประเทศไทย

เร่งตุนเงินเสริมสภาพคล่อง

“พุฒิพงศ์” บอกด้วยว่า สำหรับเรื่องสภาพคล่องนั้นในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้วงเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องแล้ว 5,300 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวนี้น่าจะช่วยให้สภาพคล่องบริษัทอยู่ได้ระยะหนึ่งเท่านั้น

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทจำเป็นต้องเดินหน้าจัดหาเงินทุนสำรองเพิ่มเติมเป็นมูลค่าหลักพันล้านบาท เพื่อใช้สำหรับใช้หมุนเวียนในธุรกิจต่อเนื่องในปีนี้ โดยหลักการได้มาซึ่งเงินทุนสำรองนั้นมองไว้ทุกแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุน, การออกหุ้นกู้, กู้จากสถาบันการเงิน ฯลฯ

ทั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่า “บางกอกแอร์เวย์ส” ยังคงได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้นั้นยังเป็นหลักพันล้านบาทเช่นเดิม