อุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัว สงครามยูเครนไม่กระทบ

Photo by VIVEK PRAKASH / AFP

IATA เผยผู้โดยสารเครื่องบินเดือนมีนาคมฟื้นตัว ปริมาณมากสุดตั้งแต่หลังโควิด ระบุสงครามยูเครนยังไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก ส่วนโอมิครอนยังทุบการบินในประเทศจีน ฉุดค่าเฉลี่ย Load Factor เอเชียต่ำกว่าภูมิภาคอื่นทั่วโลก

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกรายงานวิเคราะห์ตลาดการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ (Air Passenger Market Analysis) ประจำเดือนมีนาคม 2565 ระบุว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อจำนวนนักเดินทางในเดือนมีนาคม

โดยในเดือนมีนาคม 2565 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร (Revenue Passenger Kilometer : RPK) ของทั้งอุตสาหกรรม เติบโตถึง 76% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 58.9% ของเดือนมีนาคม 2562 ก่อนที่โควิด-19 จะระบาด ถือเป็นปริมาณที่มากที่สุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 มา

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคมนี้ มีอัตราการเติบโตน้อยกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตสูงถึง 115.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

รายงานระบุต่อว่า เมื่อปรับการคำนวณค่าฤดูกาล (Seasonally Adjusted) พบว่า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร (RPKs) มีอัตราการเติบโตที่ 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลกระทบสั้น ๆ และการฟื้นตัวของการขนส่งทางอากาศทั่วโลก ยังคงดำเนินต่อไป

สำหรับปริมาณการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic RPKs) เดือนมีนาคม 2565 พบว่า ปริมาณผู้โดยสารปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 59.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

การปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 11.7% นี้ เป็นผลมาจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศจีน ปรับตัวลดลง 59.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลง 37.8% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดเที่ยวบินภายในประเทศจีน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International RPKs) เดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 285.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

โดยปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินที่จดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สามารถทนต่อแรงกดดันจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในตลาดประเทศจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 197.1% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อปรับด้วยดัชนีฤดูกาลแล้วพบว่า เติบโต 2.9% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

รายงานจาก IATA ระบุต่อไปว่า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร ของผู้โดยสารชั้นประหยัด (Economy RPKs) ซึ่งรวมไปถึงที่นั่งชั้นประหยัดพรีเมี่ยม (Premium Economy) ของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีสัดส่วนเพียง 35% ของเดือนมกราคม 2562 และเพิ่มขึ้น 255.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ (Premium RPKs) มีสัดส่วนเพียง 36% ของเดือนมกราคม 2562 และเพิ่มขึ้น 307.3% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ด้าน ปริมาณการผลิตผู้โดยสารของทั้งอุตสาหกรรม (ASKs) ในเดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่ที่ 35.5%

ขณะที่ อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Passenger Load Factor) เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 74.7% เพิ่มขึ้น 12.7 จุดร้อยละ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และต่ำกว่าเดือนมีนาคม 2562 อยู่ 7.3 จุดร้อยละ แสดงถึงถึงการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Passenger Load Factor) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รวมเส้นทางในและต่างประเทศ) ประจำมีนาคม 2565 อยู่ที่ 64.2% ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก และลดลง 2.3 จุดร้อยละ ซึ่งสวนทางกับภูมิภาคอื่นทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราบรรทุกผู้โดยสารเส้นทางบินภายในประเทศจีน อยู่ที่ 62% ลดลง 12.9 จุดร้อยละ ทั้งยังต่ำกว่าเส้นทางบินในประเทศของอินเดียและญี่ปุ่น ที่มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 82.3% และ 56.1% ตามลำดับ