ภูมิธรรม ลุยด่านโมฮาน-บ่อเต็น ดันผลไม้ไทยไปจีน ปีนี้ผลผลิตออก 6.97 ล้านตัน

”ภูมิธรรม“ เตรียมนำคณะผู้บริหารพาณิชย์ ลุยด่านโมฮาน-บ่อเต็น เส้นทางสำคัญส่งออกผลไม้ ไทย-ลาว-จีน ช่วงวันที่ 27-29 เม.ย. 2567 นี้ พร้อมหารือผู้บริหาร นักธุรกิจ “สิบสองปันนา” จีน สร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย คาดปีนี้ผลไม้ออกมีปริมาณอยู่ที่ 6.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3%

วันที่ 25 เมษายน 2567 นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อตรวจความพร้อมของด่านบ่อเต็นของ สปป.ลาว และด่านโมฮานของจีน ในการรองรับการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะผลไม้ของไทยในฤดูการผลิต 2567 นี้ ระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน 2567

วิทยากร มณีเนตร
วิทยากร มณีเนตร

โดยการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่จะใช้เส้นทาง R3A ที่เป็นทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีน เป็นเส้นทางที่มีระยะทางสั้นที่สุด โดยผลไม้ของไทยจะออกสู่ตลาดในปลายเดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยช่องทาง R3A นี้ มีระยะทางรวมประมาณ 1,240 กิโลเมตร จากเชียงรายสู่คุณหมิง เป็นเส้นทางกระชายผลไม้ไปจีนที่สำคัญจากทุกภูมิภาคของไทย อาทิ ผลไม้สด ทุเรียน มังคุด ลำไย หม้อแปลง แร่เหล็ก เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีกำหนดการที่จะเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ติดตามความคืบหน้าการขยายโอกาสทางการค้ากับผู้บริหารระดับสูงของมณฑลยูนนาน ประกอบด้วย ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน และนายกเทศมนตรีเมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ในการขอให้สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) พิจารณาตอบกลับฝ่ายไทยสำหรับข้อเสนอการเปิดตลาดอินทผลัม และสละ และประเด็นส่งออกโคมีชีวิตไทยไปยังจีน

และที่สำคัญจะไปเร่งรัดการขยายตลาด หาช่องทางการตลาดให้สินค้าไทย ร่วมกับนักธุรกิจรายสำคัญของสิบสองปันนา ซึ่งมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ท่องเที่ยว พัฒนาด้านเทคโนโลยีเทคโนโลยีร่วมกับนักธุรกิจไทย รวมไปถึงสนใจที่จะนำเข้าสินค้าเกษตร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยเพิ่มขึ้น

“การเดินทางครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าไทย รวมไปถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย ทำตลาดในต่างประเทศ ซึ่งการเดินทางเยือนสิบสองปันนา จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการไทยในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งบริเวณด่านทั้งในจีนและลาว นอกจากนี้จะใช้โอกาสนี้พบผู้บริหารระดับสูงของยูนนาน เพื่อผลักดันสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ที่สำคัญของไทยต่อไป“

เปิด 6 มาตรการรองรับผลไม้

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สำหรับแนวทางมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2567 ได้ออกมาตรการบริหารจัดการผลไม้ไว้จำนวน 6 มาตรการ แม้ด้วยสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง ผลไม้ออกล่าช้าจากที่คาดไว้ แต่มั่นใจว่ามาตรการที่วางไว้จะยังคงรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบันได้

โดย 6 มาตรการ 25 แผนงาน เป้าหมาย 900,000 ตัน ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมการผลิต-แปรรูป 2 แผนงาน ได้แก่ เร่งรัดตรวจรับรองแปลง GAP 120,000 แปลง และส่งเสริมการแปรรูป ทุเรียน ลำไย มะม่วง (Blast Freezing/Deep Freezing/Hyper Rapid Freezing) 320,000 ตัน

2.มาตรการการส่งเสริมตลาดในประเทศ 7 แผนงาน ได้แก่ จัดทำเกษตรพันธสัญญา 100,000 ตัน, กระจายออกนอกแหล่งผลิต 90,000 ตัน โดยผู้รวบรวมซื้อผลไม้กระจายออกนอกแหล่งผลิตซึ่งรัฐจะช่วยค่าบริหารจัดการ 3 บาท/กิโลกรัม (กก.), เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผลไม้ตามมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ 150,000 ตัน

โดยผู้ประกอบการรับซื้อ คัดแยก และบริหารจัดการคุณภาพผลไม้ตามมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ ช่วยค่าบริหารจัดการ 4 บาท/กก., จัดรณรงค์บริโภคผลไม้ (ขยายช่องทางการค้าใหม่ด้วย KOL Social Media/ จัดพาณิชย์ Fruit Festival 2024) 100,000 ตัน, สนับสนุนกล่องไปรษณีย์ (300,000 กล่อง) 3,000 ตัน โดยไปรษณีย์ไทยจัดส่งให้ฟรี, โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องฟรี 20 กก. 100 ตัน ผ่าน 4 สายการบิน Air Asia, Thai Smile, Nok Air และ Thai Lion Air) และเสริมสภาพคล่องการบริหารจัดการผลไม้ วงเงินกู้ 3,340 ล้านบาท โดยช่วยดอกเบี้ยผู้ประกอบการในการรับซื้อผลไม้ 3% ต่อปีไม่เกิน 6 เดือน

3.มาตรการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ 6 แผนงาน ได้แก่ มหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค จำหน่ายผลไม้ไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน, จับคู่เจรจาธุรกิจ Business Matching 650 ล้านบาท ทั้ง Onsite และ Online, ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ Trade Promotion 340 ล้านบาท, ร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ 7 งาน, ส่งเสริมเมนูผลไม้ไทยตามฤดูกาล ผ่านร้านอาหาร Thai Select ทั่วโลก ทำเมนูของหวานจากผลไม้ไทยตามฤดูกาล และคณะผู้แทนการค้าสินค้าเกษตรเยือนต่างประเทศ 65 ล้านบาท

4.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้า 5 แผนงาน ได้แก่ คณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย เอกชนเป็นทัพหน้า รัฐสนับสนุน, ผลักดันการใช้ประโยชน์ทางการค้าจาก FTA ส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ได้รับโควตาตาม FTA, สื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย ในตลาดจีนและตลาดศักยภาพ, เจรจาผ่อนคลายมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ ลดภาษีและอุปสรรคทางการค้า และอบรมการตลาด เพื่อการค้าในประเทศและส่งออก

5.มาตรการอำนวยความสะดวกการค้า 3 แผนงาน ได้แก่ ผ่อนปรนเคลื่อนย้ายแรงงาน ในกรณีที่จำเป็น, สนับสนุนการคัดแยก-ขนย้าย ในกรณีจำเป็น และทีมเซลส์แมนจังหวัด-ประเทศ เชื่อมโยงผลผลิต

6.มาตรการกฎหมาย 2 แผนงาน ได้แก่ ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อเวลา 08.00 น. หรือทันทีที่เปิดรับซื้อ และรับซื้อตามราคาที่ปิดป้าย และการป้องปรามและปราบปราม ด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาฯ พ.ร.บ.ชั่งตวงวัด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายอาญา

คาดการณ์ผลผลิตผลไม้

นายกรนิจกล่าวอีกว่า สำหรับปริมาณผลผลิตผลไม้ของไทยปี 2567 คาดว่าจะมีปริมาณอยู่ที่ 6.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 6.6 ล้านตัน โดยผลผลิตที่จะออกมากสุดในช่วงเดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป

ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออก เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย เงาะ ลองกอง ลิ้นจี่ มะม่วง สับปะรด และส้มโอ ภาคเหนือ เช่น ทุเรียน ลำไย เงาะ ลองกอง ลิ้นจี่ มะม่วง สับปะรด ส้มเขียวหวาน และส้มโอ และภาคกลางเป็นบางส่วน เช่น ทุเรียน ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ มะม่วง สับปะรด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ผลผลิตผลไม้ทางภาคใต้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง เป็นต้น จะเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อดูปริมาณผลผลิตผลไม้ที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในปี 2567 นี้ เช่น ทุเรียน คาดว่าผลผลิตอยู่ที่ 1.5 ขยายตัว 6% มังคุด 3.01 แสนตัน ขยายตัว 10% ลำไย 1.5 ล้านตัน ขยายตัว 4% เงาะ 2.1 แสนตัน ขยายตัว 1% ลองกอง 6.8 หมื่นตัน ขยายตัว 10% มะม่วง 1.3 ล้านตัน ขยายตัว 1% สับปะรด 1.4 ล้านตัน ขยายตัว 9%

ผลไม้ที่ผลผลิตลดลงในปีนี้ เช่น ส้ม 3.04 แสนตัน หดตัว 21% ส้มโอ 1.3 แสนตัน หดตัว 27% และลิ้นจี่ 3.8 หมื่นตัน หดตัว 5%