“ZEN” เคาะราคาไอพีโอ 13 บาท จ่อเทรด SET 20 ก.พ.62

บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ “ZEN” เคาะราคาไอพีโอที่ 13 บาท โดยจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อ 7-8 และ 11 ก.พ. และเตรียมเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 20 ก.พ.62

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้สำรวจความต้องการจองซื้อหุ้นไอพีโอ (IPO) ของ บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จากนักลงทุนสถาบัน (Book Building) เมื่อวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบัน โดยนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 13 บาท และมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในพื้นฐานธุรกิจและโอกาสการเติบโตในอนาคต จึงได้กำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่หุ้นละ 13 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) โดยเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 7 – 8 และ 11 กุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าหุ้น ZEN จะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้

“ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานดี และเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่คนต้องบริโภค รวมทั้งเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสด (Cash Flow) ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารมักเติบโตไม่โดดเด่นหลังการขยายสาขาต่อๆ ไปค่อนข้างมีความล่าช้า ซึ่ง ZEN มีจุดเด่นที่ต่างจากธุรกิจอาหารอื่นๆ ที่มีการเติบโตค่อนข้างโดดเด่นผ่านธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์ และมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรย้อนหลัง 3-5 ปี ที่ 20% โดยเราประเมินว่าการเติบโตปี 2562 จะเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากยอดขายที่ยังเติบโตได้ดี และต้นทุนที่คงที่ ส่วนราคาไอพีโอที่ 13 บาท อยู่บนกำไรต่อหุ้น (P/E) ของปี 2562 ที่ 19.9 เท่า เทียบจากอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีค่า P/E ที่ 27 เท่า” นายพงศ์ศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 225 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 75 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ โดยวัตถุประสงค์ระดมทุน เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการขยายและปรับปรุงสาขาร้านอาหาร ชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) กล่าวว่า ตั้งเป้านำบริษัทฯ ก้าวเป็นผู้นำของประเทศในธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส (Food Service) และกำหนดวิสัยทัศน์องค์กรเป็นผู้นำธุรกิจอาหารที่ได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้วางแผนขยายธุรกิจและปรับปรุงร้านอาหาร ธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ อย่างเต็มที่

หลังจากได้ลงทุนด้านระบบบริหารจัดการภายในองค์กรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจเป็นที่เรียบร้อย โดยในปี 2562 บริษัทฯ วางแผนงานขยายร้านอาหารรวมประมาณ 123 สาขา แบ่งเป็นการขยายสาขารูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กลง (พื้นที่ประมาณ 100 ตร.ม.) โดยกลุ่มบริษัทฯ 36 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 87 สาขา ส่วนในปี 2563 บริษัทฯ วางแผนงานขยายร้านอาหารรวมประมาณ 225 สาขา แบ่งเป็นการขยายสาขารูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่โดยกลุ่มบริษัทฯ 50 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 175 สาขา

ทั้งนี้ ธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจร้านอาหาร 2. ธุรกิจแฟรนไชส์ และ 3. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) และบริการจัดเลี้ยง (Catering) ธุรกิจให้บริการบริหารร้านอาหาร (Restaurant Management) และบริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับร้านอาหาร (Restaurant Consultancy) และธุรกิจอาหารค้าปลีก (Retail Business) เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Ready-to-Eat) ซึ่งเป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากการจำหน่ายในร้านอาหารมาต่อยอดเพื่อวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีร้านอาหารรวม 12 แบรนด์ แบ่งเป็น กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ ได้แก่ 1. ZEN ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม (Authentic Japanese Food) 2. Musha by ZEN ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวใหม่ 3. Sushi Cyu Carnival Yakiniku ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบพรีเมี่ยม 4. AKA ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น (Yakiniku) 5. Testu ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นแบบพรีเมี่ยม และ 6. On the Table Tokyo Café ร้านอาหารประเภทไลฟ์สไตล์

ในกลุ่มร้านอาหารไทยอีก 6 แบรนด์ ได้แก่ 1. ตำมั่ว ร้านอาหารไทย-อีสาน 2. ลาวญวน ร้านอาหารไทย-อีสานและเวียดนาม 3. แจ่วฮ้อน ร้านอาหารประเภทสุกี้ลาวหรือจิ้มจุ่ม 4. เฝอ ร้านก๋วยเตี๋ยวสไตล์เวียดนาม 5. de Tummour ร้านอาหารไทย-อีสานแบบพรีเมี่ยม และ 6. เขียง (Khiang by tummour) ร้านอาหารไทยตามสั่งหรือ Street Food แบรนด์ใหม่ที่นำเสนออาหารไทยจานเดียว โดยเปิดบริการสาขาแรกที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาเจษฎาบดินทร์ จ.นนทบุรี

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทฯ มีร้านอาหารในไทยและต่างประเทศรวม 255 สาขา แบ่งเป็นกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารไทย 167 สาขา และกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น 88 สาขา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นร้านอาหารที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของ 110 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 145 สาขา

ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม – กันยายน 2561) มีรายได้รวม 2,226.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 108.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจแฟรนไชส์

“เรามีจุดเด่นด้านการเป็นผู้ให้บริการอาหาร (Food Services) อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีทั้งธุรกิจร้านอาหารที่มีแบรนด์หลากหลาย สามารถตอบสนองผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อระดับล่าง กลาง และบน และมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะช่วยให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถขยายสาขาได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงยังมีการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างและจุดแข็งให้กับการดำเนินธุรกิจ” นายบุญยงกล่าว