อ่านเกม โอเปกพลัส ลดผลิตน้ำมันพอเป็นพิธี แค่ย้ำแทรกแซงเมื่อใดก็ได้

โอเปกพลัส
FILE - The sun sets behind an idle pump jack near Karnes City, USA, April 8, 2020. AP Photo/Eric Gay, File)

โอเปกพลัส ลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงนิดเดียว เป้าหมายหลักคือการส่งสัญญาณว่าพร้อมเสมอที่จะลดการผลิตลง หากราคาน้ำมันดิ่งเกินไป

วันที่ 5 กันยายน 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานว่า กลุ่มประเทศผลิตน้ำมันชั้นนำของโลก-โอเปก พร้อมพันธมิตรที่รวมถึง รัสเซีย ในนาม โอเปกพลัส (OPEC+) แถลงปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือนตุลาคมลง 1 แสนบาร์เรลต่อวัน นับเป็นจำนวนเล็กน้อยจากเป้าการผลิต 43.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

การปรับลดดังกล่าว ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นเล็กน้อย โดยราคาน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่ม 3.3% ไปอยู่ที่ 89.79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนตลาดเบรนต์ เพิ่ม 3.7% ไปอยู่ที่ 96.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

โอเปกพลัส
FILE PHOTO: The OPEC logo REUTERS/Ramzi Boudina/File Photo

การตัดสินใจครั้งนี้ถูกมองว่า โอเปกต้องการลดพอเป็นพิธี เพื่อจะส่งสัญญาณว่า โอเปกพลัสพร้อมจะลดปริมาณการผลิตลงเมื่อใดก็ได้ ตามที่รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนสิงหาคม หลังกลุ่มโอเปกเพิ่งประกาศเพิ่มการผลิตเดือนกันยายน 1 แสนบาร์เรลต่อวัน

แหล่งข่าวของชาติอ่าวเปอร์เซียเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า สมาชิกโอเปกพลัสเชื่อมั่นให้เจ้าชายอับดุลลาซิซ บิน ซัลมาน อัล-ซาอูด รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เข้าแทรกแซงการผลิตเมื่อใดก็ได้หากจำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดน้ำมันดิบ

OPEC

“จำนวนการผลิตต่อวันดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญอะไร แต่เป็นสารชัดเจนจากวันนี้ว่า โอเปกพลัสมองว่าราคานั้นดิ่งพอแล้ว” เตสัน บอร์ดอฟฟ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐ ทวีตความเห็น

ก่อนหน้านั้น ชาติสมาชิกโอเปก รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกาที่ขอให้โอเปกเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อช่วยกดราคาก๊าซลง เพราะโอเปกเผชิญผลเสียหายหนักมาแล้วในช่วงโควิดระบาด

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มลดลงเรื่อย ๆ หรือมากกว่า 20% จากเดือนมิถุนายน ราคาพุ่งทะลุ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ต่อมาสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว แนวโน้มความต้องการใช้ของยุโรปและอเมริกาในอนาคตยังไม่สูง และเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

Aramco’s half-year profits peaked just shy of $88 billion for the first half of the year as oil prices remain high globally. (AP Photo/Amr Nabil, File)

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่ายุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีนี้ เนื่องจากเผชิญอัตราเงินเฟ้อพุ่งทะลุเพดาน โดยมีตัวเร่งจากราคาพลังงาน ส่วนจีนยังคงคุมเข้มโควิด อันมีผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ด้านสหรัฐ การลดลงของราคาน้ำมันและก๊าซ มีแต่จะเป็นผลดีต่อรัฐบาลและพรรคเดโมแครตของนายโจ ไบเดน ที่ต้องสู้ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภากลางเทอม

ส่วนปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในระยะต่อไป ได้แก่ การที่กลุ่มชาติจี 7 วางแผนตั้งเพดานราคาควบคุมน้ำมันรัสเซีย เพื่อขัดขวางรัสเซียนำไปเป็นต้นทุนทำสงครามกับยูเครน หากแผนการนี้เดินหน้า รัสเซียอาจไม่ขายน้ำมันให้ชาติที่ใช้เพดานราคาเหล่านี้ ซึ่งยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะส่งอิทธิพลต่อราคาน้ำมันโลกมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ยังมีดีลระหว่างชาติตะวันตกกับอิหร่าน ในการแลกเปลี่ยนเพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์ หากบรรลุผลจะช่วยผ่อนคลายมาตรการแซงก์ชั่นน้ำมันอิหร่าน และอาจทำให้น้ำมันอิหร่านอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันกลับเข้าสู่ตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับอิหร่านช่วงระยะหลังมานี้ ตึงเครียดขึ้นจากเหตุการณ์ที่อิหร่านยึดโดรนกองทัพเรือสหรัฐได้ในทะเลแดง เช่นเดียวกับการที่เครื่องบินรบของสหรัฐ พร้อมด้วยพันธมิตรซาอุฯ และคูเวต บินเข้าไปท้าทายในถิ่นของอิหร่าน 

 ….

ราคาน้ำมันดิบ (5 .. 65) ปรับเพิ่ม ตลาดคาดโอเปกพลัสจะปรับลดกำลังผลิต