ความจนสังหาร ด.ช.เวียดนาม 10 ขวบ ตกรูเสาเข็ม สะท้อนสะเทือนสังคม

ด.ช.เวียดนาม
จุดเกิดเหตุเด็กชายตกลงไป. (Photo by Handout / DONG THAP PROVINCIAL DEPARTMENT OF INFORMATION AND COMMUNICATION / AFP) /

บทความที่เขียนด้วยความสะเทือนใจ ต่อชีวิตของ ด.ช.เวียดนาม 10 ขวบ ฐานะยากจน ไปหาเศษเหล็กในไซต์ก่อสร้างเพื่อจะขายแลกเงิน แต่เคราะห์ร้ายตกลงไปในรูเสาเข็มนาน 4 วันก่อนเสียชีวิต  

วันที่ 5 มกราคม 2566 วีเอ็นเอ็กซ์เพรส สื่อของเวียดนาม รายงานบทความคิดเห็นของ ทรัน ฮู เฮียป (Tran Huu Hiep) นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย ที่มีต่อเหตุการณ์สะเทือนใจชาวเวียดนามทั่วประเทศ กรณี เด็กชายชาวเวียดนามวัย 10 ขวบ ชื่อ ไท ลี เฮา นัม ตกลงไปในรูเสาเข็มคอนกรีต วันที่ 31 ธ.ค. และเจ้าหน้าที่ประกาศว่าเสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 4 ม.ค.

เด็กที่มีรูปร่างผอมบาง น้ำหนัก 20 ก.ก. ตกลงไปในรูเสาเข็มเปิด มีความกว้าง 25 เซนติเมตรและลึก 35 เมตร ขณะที่เด็กและเพื่อนบ้านออกไปหาเศษเหล็กบริเวณไซต์ก่อสร้างสะพาน เพื่อนำมาขายแลกเงิน

The site of where a 10-year-old boy is trapped in a 35-metre deep shaft at a bridge construction area in Vietnam’s Dong Thap province on January 2, 2023.(Photo by AFP)

เหตุเกิดที่จังหวัดด่งท้าป ทางใต้ของประเทศ ดวน ทัน บู รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า เด็กเสียชีวิตจากหลายปัจจัย ทั้งจุดเกิดเหตุ ความลึกของเสาเข็ม ระยะเวลาที่พยายามจะช่วย และอาการบาดเจ็บที่ทำให้เด็กทรมาน

ความพยายามช่วยเหลือที่ลงเอยล้มเหลว เผยให้เห็นการละเลยข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่เห็นได้ทั่วไปตามเขตก่อสร้างของเวียดนาม นอกจากนี้ยังทำให้เกิดคำถามถึงความสับสนและความล่าช้าในการช่วยเด็ก

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเร่งรีบช่วยชีวิตเด็ก คือต้องจำกัดอันตรายที่จะเกิดกับเด็กเป็นอย่างแรก ก่อนจะหาสาเหตุที่เด็กตกลงไป หาว่าใครหน่วยงานใดต้องรับผิดชอบ และหาทีมบรรเทาทุกข์ที่จะไปช่วยปลอบเด็ก

A 10-year-old boy who fell into a 35-metre deep hole on a construction site. (Photo by AFP)

ราว 10 วันก่อนหน้าเกิดเหตุ เด็กชายวัย 10 ขวบตกลงไปในรูเสาเข็ม ก็เพิ่งเกิดเหตุคล้ายกันนี้กับเด็กหญิง อายุ 5 ขวบ ที่จังหวัดด่งนาย ทางตะวันออกเฉียงใต้ แต่เด็กหญิงยังโชคดี เมื่อได้รับความช่วยเหลือภายใน 20 นาที ขณะที่เสาคอนกรีตอยู่ลึก 15 เมตร

แต่ยังมีเด็กอื่น ๆ ที่ไม่โชคดีแบบนี้ อย่างเมื่อหลายปีก่อน มีเด็กชายอายุ 7 ขวบเสียชีวิตเมื่อตกลงไปในคูระบายน้ำในเขตก่อสร้างจังหวัดด่งนาย

ไม่นานจากนั้น มีเด็กสองคน อายุ 4 ขวบ และอายุ 5 ขวบ ที่จังหวัดบิ่นดิญ ใจกลางของประเทศ ตกลงไปในคูระบายน้ำที่เขตก่อสร้างเสียชีวิต

ด.ช.เวียดนาม
A 10-year-old boy is trapped, at a bridge construction area in Vietnam’s Dong Thap province. (Photo by HANDOUT / DONG THAP PROVINCIAL DEPARTMENT OF INFORMATION AND COMMUNICATION / AFP)

ตัวอย่างเหล่านี้เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับอุบัติเหตุนับแสนครั้งที่เกิดกับเด็ก ๆ ในเวียดนามทุกปี จากตัวเลขของสำนักงานจัดการสิ่งแวดล้อมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีเด็กราว 370,000 คนประสบอุบัติเหตุในประเทศ ในจำนวนนี้ 35.5% เสียชีวิต

เบื้องหลังความสะเทือนใจต่อชีวิตเด็กชายนัม วัย 10 ขวบและของครอบครัวของเด็ก ยังมีเรื่องราวที่น่าเศร้าของเด็ก ๆ อีกมากที่ต้องใส่ใจ

จังหวัดด่งท้าป ไม่ใช่จังหวัดเดียวในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแม่โขงที่เด็ก ๆ ต้องไปเร่ร่อนตามถนนเพื่อทำงานหาเงิน พื้นที่เหล่านี้จะหาเด็กที่มีวัยควรจะได้ไปโรงเรียน กลับต้องดิ้นรนหางานทำ ตั้งแต่เสิร์ฟอาหารตามร้าน รับจ้างทำงานบ้าน ขายลอตเตอรี หรือไปเก็บเศษเหล็กขายแบบเด็กชายนัม

 แม่ของเด็กชายเล่าว่า ลูกไปเก็บเศษเหล็กขาย เพราะหวังจะเอาเงินไปเรียนวิชาศิลปะป้องกันตัว มีค่าเรียนเดือนละ 2.56 ดอลลาร์ หรือราว 85 บาท และไม่มีทางเลือกอื่นหากต้องการเรียนในสิ่งที่ชอบ โดยก่อนวันเกิดเหตุ ด.ช.นัมเก็บเงินได้แล้ว 30 บาท

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องมองว่าเป็นรากของปัญหานี้ก็คือ ความยากจน

พื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือ Mekong Delta เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประชาชนยากจนที่สุดในประเทศ มีเพียง  11.4% ของประชากรอายุเกิน 15 ปีที่มีงานทำ ในขณะที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนสูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศเกือบสามเท่า เนื่องจากไม่มีเงินเรียน

นอกจากนี้การไม่มีงานในพื้นที่ ทำให้คนส่วนใหญ่ออกไปหางานทำที่นครโฮจิมินห์ และเมืองใกล้เคียงอื่น เช่น ด่งนาย บิ่นดวง เพื่อทำงานในโรงงาน หรือภาคบริการอื่น

ระหว่างไปหางานทำ พ่อแม่ต้องทิ้งลูกไว้อยู่กับญาติ และเด็กไม่มีโอกาสไปโรงเรียน ดังนั้นจึงไม่มีใครเลยที่จะปกป้องดูแลเด็ก ขณะที่เขตก่อสร้างเป็นแหล่งที่ดึงดูดเด็กยากจนให้เข้าไป มีทั้งสิ่งแปลก ๆ ที่ไว้เล่นได้ และสิ่งที่เก็บเอาไปขายได้

 เมื่อบวกกับคำว่า “ถ้าเพียงแต่” ของผู้ใหญ่ที่ทำอะไรสายไปเสมอ สำหรับเด็กที่มีฐานะยากจน ความตายของเด็กชายนัมเป็นสิ่งที่ปลุกให้สังคมได้เห็นว่า เด็กสมควรได้รับสิทธิที่จะได้รับการศึกษา ได้เล่นในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย แทนที่จะต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

…..