
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% นำอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงิน (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2007-2009 จากถ้อยแถลงยังไม่ชัดว่าครั้งนี้เป็นการขึ้นครั้งสุดท้าย ยังคงเปิดช่องที่จะขึ้นได้อีกตามสถานการณ์และความเสี่ยง
วันที่ 26 กรกฎาคม 2023 ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งตรงกับวันที่ 27 กรกฎาคม ตามเวลาประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Open Market Committee : FOMC) มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% นำอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงิน (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2007-2009
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 11 ในการประชุมนโยบายการเงิน 12 ครั้งหลังสุด โดยหยุดขึ้นชั่วคราวหนึ่งครั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และอาจเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในการต่อสู้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อรอบนี้
จากแถลงการณ์ของ FOMC ยังไม่มีสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายตามที่นักลงทุนทั่วโลกคาดหวัง โดยบอกเหมือนครั้งที่ผ่าน ๆ มา ว่าจะติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด และจะตัดสินใจตามข้อมูลที่เข้ามาใหม่
ถ้อยแถลงของคณะกรรมการนโยบายการเงินเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ระบุว่า “ตัวชี้วัดล่าสุดบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในระดับปานกลาง การจ้างงานใหม่ยังแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อยังคงสูง”
“ระบบธนาคารของสหรัฐอเมริกามีความมั่นคงและยืดหยุ่น เงื่อนไขสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับครัวเรือนและธุรกิจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้ยังไม่แน่นอน คณะกรรมการยังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ”
“คณะกรรมพยายามที่จะบรรลุการจ้างงานสูงสุดและอัตราเงินเฟ้อ 2% ในระยะยาว เพื่อสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้ คณะกรรมการตัดสินใจเพิ่มช่วงเป้าหมายสำหรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเป็น 5.25%-5.50% คณะกรรมการจะประเมินข้อมูลเพิ่มเติมและผลกระทบต่อนโยบายการเงินต่อไป”
แถลงการณ์บอกว่า ในการกำหนดโยบายเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงไปที่ 2% คณะกรรมการจะคำนึงถึงความเข้มงวดสะสมของนโยบายการเงิน ความล่าช้าของนโยบายการเงินที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ และพัฒนาการหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงลดการถือครองหลักทรัพย์ (ทำ QT) ตามที่อธิบายไว้ในแผนการที่ประกาศก่อนหน้านี้
“คณะกรรมการมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2%” ถ้อยแถลงของ FOMC ย้ำเป้าหมาย
FOMC บอกอีกว่า ในการประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสม คณะกรรมการจะยังคงติดตามผลกระทบข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ คณะกรรมการจะเตรียมปรับนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากเกิดความเสี่ยงที่อาจขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของคณะกรรมการ การประเมินของคณะกรรมการจะพิจารณาจากข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงตัวเลขสภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ และสถานการณ์ล่าสุดในตลาดการเงิน และสถานการณ์ล่าสุดด้านการระหว่างประเทศ
เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวในการแถลงข่าวว่า การตัดสินใจกำหนดนโยบายการเงินจะพิจารณาเป็นครั้ง ๆ และเจ้าหน้าที่สามารถบอกแนวทางได้อย่างจำกัด เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการเงินที่จะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน
“เป็นไปได้อย่างแน่นอนที่เราจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินอีกครั้งในการประชุมเดือนกันยายน หากข้อมูลนั้นถูกต้อง และผมจะบอกว่าเป็นไปได้ที่เราจะเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนั้น หากนั่นเป็นนโยบายที่เหมาะสม” พาวเวลล์กล่าว
นอกจากนั้น เขาเตือนอีกครั้งว่า อย่าคาดหวังว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้