คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในปีนี้ กดดันดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

คาดเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในปีนี้ กดดันดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. 2566 

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/7) ที่ระดับ 34.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/7) ที่ระดับ 34.60/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 99.9 หลังปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 8 เดือน ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกบี้ย ภายหลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ตั้งแต่วันที่ 15-27 ก.ค. ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 25-26 ก.ค. โดยทางด้าน FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมช่วงสิ้นเดือนนี้ และให้น้ำหนักเพียง 3.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม

พร้อมกันนี้นักลงทุนยังคาดการณ์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในปีนี้ ก่อนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อคืนวานนี้ (17/7) เฟด สาขานิวยอร์ก เปิดเผย่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ +1.1 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ +6.6 ในเดือนมิถุนายน แต่สู่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ -4.3 โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ซึ่งดัชนียังคงสูงกว่าระดับ 0 บ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ช่วยหนุนการซื้อขายดอลลาร์แต่อย่างใด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วานนี้ (17/7) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงภายหลังการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า ทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีมติเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อีกครั้งในการประชุมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค. นี้ แต่หากคะแนนที่ได้รับยังคงไม่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ทางพรรคก้าวไกลพร้อมถอยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแทน ซึ่งตัวเลขที่เหมาะสมนั้นควรอยู่ที่ 324-345 เสียง

และได้มีการแถลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ถือว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำ และไม่เข้ากับข้อบังคับการประชุมที่ 41 โดยทั้ง 8 พรรคมีความเห็นต่างจากสมาชิกวุฒิสภา โดยเห็นว่าการเสนอผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถือเป็นญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมที่ 41 ซึ่งจะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายอีกครั้งในวันนี้ (18/7)

พร้อมยืนยันว่า ยังไม่ได้มีการหารือเรื่องชื่อนายกรัฐมนตรีสำรองหากไม่ได้รับคะแนนมากพอในการเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.16-34.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/7) ที่ระดับ 1.1240/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/7) ที่ระดับ 1.1242/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวานนี้ (17/7) ทางยูโรโซนได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้บริโภคเดือนมิถุนายน (CPI) ของทางประเทศอิตาลีอยู่ที่ 0% ตามคาดการณ์ แต่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.3%

ทั้งนี้ ตลาดจับตารอดูตัวเลขดัชนีผู้บริโภคของทางยูโรโซนที่จะทำการเปิดเผยในช่วงเย็นวันพรุ่งนี้ (19/7) โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.323-1.1245 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1235/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/7) ที่ระดับ 138.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/7) ที่ระดับ 138.14/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนจับตามองการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของทางเฟดที่จะมีขึ้นในวันที่ 25-26 ก.ค. และการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของทางธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 27-28 ก.ค.ที่จะถึงนี้

ซึ่งทางบลูมเบิร์กได้มีการรายงานว่าการประชุมที่จะถึงนี้ทางธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นน่าจะมีการเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อสู่ระดับ 2% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.22-138.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.24/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีก (18/7), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (18/7), สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ (18/7), คำขออนุญาตสร้างอาคาร (19/7), จำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้าง (19/7), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (19/7), คำขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/7), รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย (20/7), ยอดขายบ้านมือสอง (20/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.5/10.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -14.2/12.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ