จีนเตือนทั่วโลก รับมือไวรัสโคโรนา 20 สายพันธุ์ใหม่จากค้างคาว

จีนเตือนทั่วโลกให้เตรียมพร้อมรับมือกับไวรัสโคโรนา 20 สายพันธุ์ใหม่จากค้างคาว
ภาพ : ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี เผยจีนออกมาเตือนทั่วโลก ให้เตรียมพร้อมรับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จำนวน 20 สายพันธุ์จากค้างคาว ชี้ “มีความเสี่ยงสูง” ที่อาจแพร่ระบาดมาสู่คนได้ หากมีการล่าไวรัสที่โลกไม่รู้จักและมนุษย์อาจติดเชื้อเสียเอง จนเกิดเป็นโรคระบาดติดต่อร้ายแรง

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เตือนเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 20 สายพันธุ์จากค้างคาว ที่อาจระบาดมาสู่คน โดยระบุว่า ประเทศจีนได้ออกมาเตือนให้เตรียมพร้อมรับมือกับไวรัสโคโรนา 20 สายพันธุ์ใหม่จากค้างคาว

ดร.ฉี เจิ่งลี่ ผู้อํานวยการศูนย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ สถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ออกมาเตือนว่าพบไวรัสโคโรนาจากค้างคาวกว่า 20 สายพันธุ์ใหม่ “มีความเสี่ยงสูง” ที่อาจก้าวข้ามมาระบาดในคน โดยตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารทางการแพทย์ Emerging Microbes & Infections เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/37334745/) โดยสื่อจีนให้ความสนใจรายงานข่าวในเดือนกันยายน 2566

อย่างไรก็ดี นักวิจัยจากหลายสถาบันได้ออกมาเตือนถึงการล่าไวรัสที่โลกไม่รู้จัก (Exotic virus hunting) อาจเป็นการได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ ? กล่าวคือ กลับทำให้มนุษย์และไวรัสในสัตว์ป่าเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น จนสุ่มเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ล่าไวรัสอาจติดเชื้อไวรัสเสียเองจนเกิดเป็นโรคระบาดติดต่อร้ายแรงไปทั่วโลกหรือไม่

ไวรัสโคโรนา (CoV) มี 4 สกุล ได้แก่ alpha (α), beta (β), gamma (γ) และ delta (δ) CoV ทั้งหมดที่ทำให้เกิดการระบาดของมนุษย์นั้นมาจาก alpha-หรือ beta-CoV จากการจำแนกประเภทของ ICTV ล่าสุด พบว่ามี CoV สายพันธุ์ 40 ชนิดในสกุล alpha-และ beta-CoV โดย 27/40 ของสายพันธุ์ CoV (67.5%) สามารถพบได้หรือพบเฉพาะในค้างคาว

หลักฐานของการระบาดของไวรัสโคโรนาในอนาคต

ทีมวิจัยได้ระบุว่า พบไวรัสโคโรนาจํานวนกว่า 20 สายพันธุ์ที่มี “ความเสี่ยงสูง” ที่จะแพร่ติดเชื้อในคนได้ โดยให้เหตุผลว่าไวรัสโคโรนาเคยก่อให้เกิดการระบาดจากสัตว์สู่คนมาก่อน (เช่น SARS และ COVID-19) ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่มันจะก่อให้เกิดการระบาดอีกในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเปรียบเทียบงานวิจัยของ ดร.ฉี เจิ่งลี่ เสมือนการทำ “พจนานุกรมของไวรัสโคโรนา” ที่จะช่วยในการพยากรณ์และป้องกันการระบาดในอนาคต

ผลกระทบงานวิจัยของ ดร.ฉี เจิ่งลี่

  • เน้นถึงภัยคุกคามต่อเนื่องจากไวรัสโคโรนาที่มาจากค้างคาว
  • ย้ำให้เห็นว่าภาครัฐควรลงทุนด้านการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อสืบค้นหาไวรัสที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อประโยชน์แห่งการพัฒนาวัคซีน/ยาสำหรับรักษาล่วงหน้าก่อนเกิดการระบาดในอนาคต
  • เตือนผู้ดูแลระบบสาธารณสุขทั่วโลกให้เตรียมรับมือการแพร่ระบาดของโรคจากไวรัสโคโรนาใหม่ ๆ ในอนาคต
  • การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนาทั้งจีโนมที่แยกเชื้อได้จากสัตว์โดย ดร.ฉี เจิ่งลี่ และทีมวิจัยสถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น จะมีคุณค่าอย่างยิ่งในการพยากรณ์และป้องกันโรคระบาดในอนาคต

นักวิจัยจากหลายสถาบันเตือนถึงการล่าไวรัสที่โลกไม่รู้จัก (Exotic virus hunting) อาจเป็นการได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ ? คือกลับทำให้มนุษย์และไวรัสในสัตว์ป่าเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น จนสุ่มเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ล่าไวรัสอาจติดเชื้อไวรัสเสียเองจนเกิดเป็นโรคระบาดติดต่อร้ายแรงไปทั่วโลกหรือไม่

สำหรับ ดร.ฉี เจิ่งลี่ ได้รับสมญาว่า “หญิงค้างคาว (bat woman)” และ “นักล่าไวรัส (virus hunter)” เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนผู้ที่มีชื่อเสียง ทําการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่กระโดดข้ามจากสัตว์ โดยเฉพาะค้างคาวมาติดต่อในคน โดย ดร.ฉี เจิ่งลี่ เป็นผู้อํานวยการศูนย์ติดเชื้ออุบัติใหม่ สถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น และโด่งดังจากงานวิจัยเกี่ยวกับ SARS-CoV-1

ในปี 2560 ดร.ฉี เจิ่งลี่ และทีมวิจัยค้นพบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ SARS น่าจะมีต้นกําเนิดมาจากค้างคาวเกือกม้า (horseshoe bat) ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และ ดร.ฉี เจิ่งลี่ ถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากห้องปฏิบัติการของเธอที่สถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น ทําการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา แต่เธอปฏิเสธว่าไวรัสโคโรนา-2019 มิได้หลุดมาจากห้องปฏิบัติการของเธอ ปัจจุบันรัฐบาลจีนยังคงสนับสนุนงานวิจัยของ ดร.ฉี เจิ่งลี่ ในการสืบค้นไวรัสในสัตว์ที่อาจแพร่ข้ามมาสู่มนุษย์

ในผลการวิจัยล่าสุด ดร.ฉี เจิ่งลี่ และทีมวิจัยได้เตือนว่ามีโอกาส “สูงมาก” ที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาอีกในอนาคต

 

โพสต์ศูนย์จีโนม รามาฯ