คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
หากติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดเงิน ตลาดทุนในเอเชียกันสักหน่อย ทุกคนคงตระหนักถึงปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยเหตุที่ว่าบรรดาเงินสกุลสำคัญ ๆ ในเอเชียยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
เงินเยนของญี่ปุ่น ณ จุดหนึ่งถึงกับทรุดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เงินวอนของเกาหลีใต้ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งเงินหยวนของจีน
ดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่ามาโดยตลอด ผู้สันทัดกรณีบางคนถึงกับระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นมากถึง 30% โดยที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลง ตราบเท่าที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงอยู่เช่นเดิม
ปัจจัยที่ว่านั้น โดยหลัก ๆ ก็คือ ภาพรวมเศรษฐกิจที่ “ดูเหมือนว่า” จะแข็งแกร่ง ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้ดีกว่าและเร็วกว่าหลาย ๆ ประเทศ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกายังคงแขวนอยู่ในระดับสูง สูงกว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียและประเทศส่วนใหญ่ของโลก
สภาพดังกล่าวก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าวิตกในรูปแบบของการไหลออกของเงินทุนจากประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง
ผลลัพธ์ก็คือ บรรดาค่าเงินของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกล้วนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์กันถ้วนหน้า
เหตุผลเป็นเพราะบรรดานักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในรูปของเงินสกุลอื่น ๆ เพื่อนำเงินไปซื้อดอลลาร์สำหรับลงทุนหลักทรัพย์ หรือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ทั้งหมดนั้นทำให้ข้อวิตกกังวลที่น่ากลัวประการหนึ่งหวนกลับมาอีกครั้ง เพราะหลายคนเริ่มตั้งคำถามขึ้นตามมาว่า หรือว่าสถานการณ์ในยามนี้จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ที่เริ่มต้นในภูมิภาคเอเชียอีกครั้งเหมือนเมื่อปี 1997 ที่รู้จักกันในนามวิกฤตต้มยำกุ้ง
แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังมีอีกบางส่วนที่เตือนว่า โอกาสที่จะเกิดวิกฤตที่ว่านี้ในเอเชียยังมีส่วนที่เห็นด้วย ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างสำคัญบางอย่าง ระหว่างสถานการณ์ในปัจจุบัน กับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 27 ปีก่อน เป็นต้นว่า ประเทศในเอเชียในยามนี้ใช้ระบบปริวรรตเงินตราแบบยืดหยุ่นมากกว่าเดิมแทบทั้งหมด ไม่ได้ตรึงค่าเงินตนเองกับดอลลาร์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน การแข็งค่าของดอลลาร์ก็มีปัจจัยหลักมาจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ที่นำมาใช้เพื่อต่อกรกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยระยะสั้น เพราะในที่สุดเฟดก็ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ไม่ปล่อยให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องต่อไปนาน ๆ
อีกฝ่ายไม่ได้โต้แย้งในประเด็นเหล่านี้ กระนั้นก็ยังยืนยันว่า วิกฤตทางการเงินยังเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหาหนักหนาสาหัสเกิดขึ้นกับเงินสกุลสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงิน “หยวน” ของจีน
การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินในเอเชียอ่อนค่าลงถ้วนหน้าก็จริง แต่การอ่อนค่าลงเหล่านั้นกลับไม่เท่ากัน อัตราดอกเบี้ยที่ไหนต่ำมาก ค่าเงินก็จะอ่อนลงมากตามไปด้วย
นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม “เงินเยน” ของญี่ปุ่นถึงรูดลงเร็วและแรงอย่างที่เห็น
ข้อเท็จจริงก็คือ เมื่อค่าเงินอ่อนลงมาก ๆ สินค้าของประเทศนั้น ๆ จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะราคาสินค้าจะถูกลงเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศอื่น ๆ ที่ค่าเงินอ่อนลงไม่มากเท่า ยั่วยวนให้เกิดการแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นตามมา ที่อาจนำไปสู่ “สงครามค่าเงิน” ขึ้นได้
ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้หรือไต้หวัน อาจเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อให้สินค้าของตนแข่งกับญี่ปุ่นได้ เป็นต้น
หากเกิดกับประเทศอื่นยังพอทำเนา แต่หากเกิดขึ้นกับ “เงินหยวน” ของจีน อันตรายใหญ่หลวงจะเกิดขึ้นตามมา เพราะในทันทีที่จีนพยายามจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ด้วยการทำให้หยวนอ่อนค่าลงสู้กับเงินเยนญี่ปุ่นหรือเงินวอนของเกาหลีใต้ ความคาดหวังว่าหยวนจะลดลงแรงมากจะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดการเทขายและการร่วงลงครั้งใหญ่ ไม่เพียงแต่เฉพาะเงินหยวนเท่านั้น แต่อาจลามไปถึงทุกสกุลในเอเชีย
เมื่อนั้นแหละที่วิกฤตในทำนองต้มยำกุ้งจะเกิดขึ้นตามมา
ถามว่าสถานการณ์ทำนองนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงไหม คำตอบก็คือ มี แต่ไม่น่าจะสูงมากมายนัก
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ทางการจีนไม่น่าจะทำเช่นนั้น แต่จะยังคงเน้นให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาในการปรับปรุง “โมเดลเศรษฐกิจ” ของตนเองมากกว่าที่การพึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยน หรือสงครามค่าเงินใด ๆ
สำหรับชาติอื่น ๆ ในเอเชียก็คงภาวนาเช่นนั้น เพราะแค่การอ่อนค่าของสกุลเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในยามนี้ก็เจ็บปวดมากพอแล้ว อย่าให้ถึงขั้นวิกฤตกันอีกเลย