จีนเงินทุนไหลออกทำสถิติสูงสุด เจอโจทย์ยากบริหารค่าเงิน “หยวน”

FRANCE-CHINA-POLITICS-DIPLOMACY
The Chinese flag representing the vehicle transporting the Chinese President is parked in the grounds of The Elysee Presidential Palace during his official state visit, in Paris on May 6, 2024. French President Emmanuel Macron is to host Xi Jinping for a state visit on May 6, 2024, seeking to persuade the Chinese leader to shift positions over Russia's invasion of Ukraine and also imbalances in global trade. Xi's first visit to Europe since 2019 will also see him hold talks in Serbia and Hungary. Xi has said he wants to find peace in Ukraine even if analysts do not expect major changes in Chinese policy. (Photo by Ludovic MARIN / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ภาวะเงินทุนไหลออกจากจีนยังไม่กระเตื้องขึ้น โดยจากรายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า เดือนเมษายน 2024 ที่ผ่านมา เงินทุนไหลออกจากจีนแย่ลงไปอีก ทำสถิติไหลออกสูงที่สุด ทั้งนี้ หากดูตามข้อมูลของสำนักบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีนที่เผยแพร่ออกมา พบว่าธนาคารจีนได้ขายเงินตราต่างประเทศให้บริษัทต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้า 3.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดนับจากเดือนธันวาคม 2016 ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกจีนก็เตะถ่วงไม่ยอมนำดอลลาร์สหรัฐมาแลกเป็นเงินหยวน ส่วนประชาชนทั่วไปก็พากันซื้อเงินตราต่างประเทศสำหรับท่องเที่ยว

ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นมุมมองที่ระมัดระวังต่อเงินหยวน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของจีนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยสหรัฐ ทำให้ดอลลาร์ได้รับความนิยมกว่า ขณะเดียวกัน การที่ธนาคารกลางจีนรักษาความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์ไว้ในช่วงแคบ ๆ ท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยในปีนี้หรือไม่ ก็ยิ่งทำให้การบริหารค่าเงินหยวนยากขึ้นไปอีก

นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมนแซกส์ กรุ๊ป อิงก์ ระบุว่า คาดว่าผู้วางนโยบายของจีนจะยังคงควบคุมการไหลออกของเงินทุนอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคาดหวังจากตลาด ว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงไปอีก ด้วยการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเข้มข้นและบริหารสภาพคล่องนอกประเทศ

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่นักลงทุนต้องการเงินตราต่างประเทศ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพวกเขามีมุมมองบวกต่อหลักทรัพย์ใด ๆ ก็ตามที่ไม่มีเงินหยวนครอบงำอยู่ และหากมองดูดุลบัญชีเดินสะพัด (ดุลการค้า+ดุลบริการ) ก็ไม่ได้สนับสนุนค่าเงินหยวนเช่นกัน เพราะแสดงให้เห็นถึงการซื้อสุทธิเงินตราต่างประเทศ อันเป็นสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก เพราะจีนเกินดุลการค้าจากการส่งออกมาเป็นเวลานาน แต่กลับกลายเป็นว่า ในส่วนของภาคบริการเกิดการขาดดุล เพราะคนจีนออกไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น

ตัน หวัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์หั่งเส็ง แบงก์ ไชน่า บอกว่า บรรดาผู้ส่งออกของจีนมีแนวโน้มสูงมากที่จะถือเงินตราต่างประเทศเอาไว้แทนเงินหยวน เพราะพวกเขามีความคาดหวังต่ำเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งเกิดภาวะเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง

Advertisment

ในปี 2023 จีนประสบปัญหาเงินไหลออกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยไหลออกทั้งสิ้น 6.87 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปเงินบริษัทและครัวเรือน และเป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการไหลออกของเงินลงทุนโดยตรง เช่นการลงทุนก่อสร้างโรงงาน ซึ่งในครั้งก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเงินทุนไหลออกในปี 2018 จีนใช้มาตรการคุมเพดานการไหลออกเป็นเวลาถึง 4 ปีติดต่อกัน

สำหรับมาตรการชุดใหญ่ที่รัฐบาลจีนประกาศออกมา เพื่อกอบกู้วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับการตอบสนองทางบวกจากตลาดนั้น “เอ็ดเวิร์ด ชาน” ผู้อำนวยการคอร์ปอเรต เรตติ้ง ของเอสแอนด์พี ระบุว่า แม้จีนจะมีมาตรการออกมา แต่เอสแอนด์พียังคงมีมุมมองเช่นเดียวกับช่วงก่อนหน้า ว่าตลาดอสังหาฯของจีนมีแนวโน้มที่จะอยู่ในสภาวะ “ค้นหาจุดต่ำสุด” แม้ว่านโยบายสำคัญที่จีนประกาศออกมาจะแสดงให้เห็นการเอาจริงเอาจังและทุ่มเทอย่างมาก เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับภาคอสังหาฯ แต่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล

ส่วน “หุย ซาน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมนแซกส์ ก็พูดในทำนองเดียวกันว่า แม้มาตรการบางอย่างจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นการลดเงินดาวน์ต่ำกว่า 20% ถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะตามการประเมินของโกลด์แมนฯ เห็นว่าต้องใช้เงินอย่างน้อย 1 ล้านล้านหยวน เพื่อลดสินค้าคงคลังส่วนเกินในตลาด เพื่อให้ราคาบ้านสร้างใหม่สามารถหาจุดต่ำสุดภายใน 1 ปี

ขณะที่ ติง ลู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โนมูระระบุว่า จีนเดินมาถูกทางแล้วในการ “ยุติวิกฤตอสังหาฯ” เพราะมีการเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นจากการสร้างบ้านรัฐ ไปสู่การรับประกันว่าจะสามารถส่งมอบบ้านที่จำหน่ายก่อนการสร้างให้กับผู้บริโภค เพื่อกอบกู้ความมั่นใจของผู้บริโภคกลับคืนมา เป็นก้าวเริ่มต้นสำคัญที่จะล้างซัพพลายส่วนเกิน

Advertisment