ชะตากรรม อังกฤษ หลังข้อตกลง “เบร็กซิต” ส่อล่ม

(AP Photo/Matt Dunham)

การลาออกของคีย์แมน 2 คนที่มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการนำอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีโอกาสอย่างแท้จริงที่สุดท้ายแล้วข้อตกลงออกจากอียู หรือ “เบร็กซิตดีล” อาจจะไม่เกิดขึ้น

(ซ้าย)เดวิด เดวิส,บอริส จอห์นสัน(ขวา)

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายเดวิด เดวิส (David Davis) รัฐมนตรีเบร็กซิต และนายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นนักการเมืองที่อยู่ในซีก “สนับสนุนการออกจากอียู” อย่างแข็งขัน ได้ลาออกจากตำแหน่งในวันเดียวกัน เพราะไม่เห็นด้วยกับแผนเบร็กซิตของ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนื่องจากเป็นแผนที่อ่อนข้อให้กับอียูมากเกินไป หรือซอฟต์เบร็กซิต

ในขณะที่ฝ่ายแผนเบร็กซิตของเทเรซา เมย์ ถูกฝ่ายโปรเบร็กซิตมองว่าอังกฤษยังรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับอียูมากเกินไป โดยจะยังมีการให้สินค้าของทั้งอังกฤษและอียูคงอยู่ในเขตการค้าเสรีเช่นเดิม ซึ่งก็ต้องแลกด้วยการที่อังกฤษก็ต้องยอมให้สินค้าต่าง ๆ รวมทั้งสินค้าเกษตรของอียูค้าขายได้อย่างเสรีในตลาดอังกฤษเช่นกัน

ในจดหมายลาออกของนายเดวิสระบุว่า “เรามอบการควบคุมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของเราไว้ในมืออียูมากเกินไป และเสี่ยงที่จะได้รับผลลัพธ์ที่แย่”

การลาออกของรัฐมนตรีทั้งสองสร้างอุปสรรคสำคัญในการเดินหน้าเบร็กซิตเพื่อออกจากอียูให้ทันกำหนดภายในวันที่ 29 มีนาคมปีหน้า รัฐบาลขาดเอกภาพ อำนาจของนางเทเรซา เมย์ สั่นคลอน

นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า ภาวะผู้นำของนายกฯอังกฤษง่อนแง่นก็จริง แต่ก็ไม่น่าจะยังนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในตอนนี้ แม้ว่า ส.ส.ในพรรคอนุรักษนิยมหลายคนจะไม่พอใจนางเมย์ และสามารถโค่นเธอลงได้ทุกเมื่อผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่พวกเขาก็จะยังเก็บเธอไว้ เพราะไม่อยากเลือกผู้นำใหม่และเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เนื่องจากเกรงว่าหากเลือกตั้งใหม่พวกเขาอาจไม่ได้รับเลือกกลับเข้ามาในสภาอีก

เอียน เบกก์ นักวิจัยสถาบันยุโรปศึกษา ลอนดอน สกูล ออฟ อีโคโนมิกส์ระบุว่า แม้แผนเบร็กซิตของนางเมย์จะก่อให้เกิดรอยร้าวในรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งนั่นก็แย่พอแล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือมีแนวโน้มว่าแม้แต่อียูก็อาจจะไม่ยอมรับแผนดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นการ “เก็บผลไม้ในสวนของคนอื่น”  ดังนั้น อียูก็อาจจะผลักดันกลับมาแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรหากว่าข้อตกลงเบร็กซิตไม่เกิดขึ้น (No-Brexit Deal)

ตามแถลงการณ์ของสมาคมค้าปลีกแห่งอังกฤษระบุว่า หากอังกฤษต้องออกจากอียูโดยไม่ได้บรรลุข้อตกลงอะไรเลย ก็มีความเสี่ยงที่สินค้าจากอังกฤษจะต้องถูกตรวจสอบมากขึ้นจากศุลกากรของแต่ละประเทศในอียู  ขณะเดียวกัน สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่นำเข้าจากอียูจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 29% ส่วนสินค้านอกเหนือจากอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เสื้อผ้า และผ้าผืน อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 7% ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายน้อยลง กระทบต่อเศรษฐกิจ อีกทั้งจะทำให้กำไรของภาคธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบจากยุโรปลดลง และสุดท้ายแล้วกระทบต่อตลาดหุ้น

โรเจอร์ โจนส์ ผู้ดูแลการลงทุนหุ้นแห่งลอนดอนแอนด์แคปิตอลชี้ว่า หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเบร็กซิต ก็เชื่อว่าจะได้เห็นสภาพเดียวกับที่เกิดขึ้นในวันที่มีการโหวตออกจากอียูซ้ำอีก นั่นคือค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงมาก และอาจจะได้เห็นการขายหุ้นอย่างหนักในตลาดยุโรปด้วย เพราะบรรดาบริษัทที่ตั้งอยู่ในอียูและเชื่อมโยงการค้ากับอังกฤษจะมองว่าการทำธุรกิจในอังกฤษมีต้นทุนแพงขึ้น

ชาวอังกฤษลงประชามติออกจากอียูเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าทันที 10% หรืออ่อนสุดในรอบ 31 ปี และมาอ่อนค่าหนักสุดในเดือนมกราคม 2560 เหลือต่ำกว่า 1.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ หรืออ่อนสุดในรอบ 32 ปี หลังจากชัดเจนว่ารัฐบาลอังกฤษเริ่มทำแผนออกจากอียู