“เอเชีย” กับผลกระทบ จาก “สงครามการค้า”

REUTERS/Issei Kato

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ลี จู โยล ผู้ว่าการธนาคารกลางของเกาหลีใต้ เคยเตือนเอาไว้ในราวสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคมนี้ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ใคร ๆ เคยคิดกันว่า ไม่น่าจะลุกลามบานปลาย กำลังกลายเป็นเรื่องน่าวิตกมากขึ้นตามลำดับ และกำชับต่อว่า “เราต่างรู้กันดีว่าการปะทะกันระหว่างสองมหาอำนาจนั้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของเกาหลีใต้”

ที่น่าสนใจก็คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญอย่าง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นในเวลาต่อมา แสดงให้เห็นว่าคำเตือนดังกล่าวเป็นความจริง

ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในเวลานี้อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบปี อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงไตรมาส 2 ระหว่างเดือนเมษายน เรื่อยมาจนถึงเดือนมิถุนายน เหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ตัวเลขดังกล่าว อาจไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในยามนี้ ตั้งแต่เรื่องสงครามการค้า แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) เรื่อยไปจนถึงการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์และราคาน้ำมันดิบโลกที่ขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ การขยายตัวในระดับต่ำที่สุดในรอบปีที่ว่านั้นก็น่ากังวลมากขึ้นทันที

ผลกระทบต่อเกาหลีใต้ดูเหมือนจะรุนแรงและชัดเจนกว่าการส่งออกของเกาหลีใต้ ซึ่งถูกยึดถือกันว่าเป็นเหมือนเครื่องบ่งชี้ทิศทางลมสำหรับตลาดโลกนั้นทรุดตัวลงอย่างฮวบฮาบ หลังจากที่เคยขยายตัวถึงระดับ 13.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนพฤษภาคม กลับลดลงมาเป็นติดลบ 0.1 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ในแวดวงการค้าชี้ให้เห็นว่า สภาวะการส่งออกของเกาหลีใต้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างชัดเจน

ญี่ปุ่นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตเป็นอันดับ 3 ของโลก ก็กำลังเผชิญกับผลกระทบในทางจิตวิทยาจากสงครามการค้าของ 2 ยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้เช่นเดียวกัน

ผลการสำรวจของธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่เรียกกันว่า “ทังกัน เซอร์เวย์” ของดัชนีผู้ประกอบธุรกิจการผลิตขนาดใหญ่ในรอบ 3 เดือนหลังสุด ณ เดือนมีนาคม ลดลงจากเดิม 24 เหลือเพียง 21 เท่านั้น

ตัวเลขเดียวกันในประเทศสิงคโปร์ที่ตรวจสอบกันเป็นรายไตรมาสพบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีดัชนีการผลิตพุ่งขึ้นสูงถึง 21.3 เปอร์เซ็นต์ แต่พอถึงไตรมาส 2 ตัวเลขกลับหดลงมาติดลบ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ภาคการก่อสร้างลดลงวูบ 14.6 เปอร์เซ็นต์ ในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนเช่นเดียวกัน

เจฟฟ์ อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์ประจำบริษัท คอนตินัม อีโคโนมิคส์ ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่สำคัญในห่วงโซ่การผลิตที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในภูมิภาค หากแต่ยังรวมถึงระดับระหว่างประเทศอีกด้วย นักเศรษฐศาสตร์รายนี้คำนวณเอาไว้ว่า ไม่ว่าการค้าของสหรัฐอเมริกาหรือจีนหากลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ จะส่งผลกระทบให้การส่งออกของสิงคโปร์ลดลงทันทีระหว่าง 1-2 เปอร์เซนเทจพอยต์ การเปลี่ยนแปลงในทางลบดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นกับการส่งออกของสิงคโปร์เอง และสินค้าที่สิงคโปร์นำมา “รีเอ็กซ์ปอร์ต”

ความเสี่ยงต่อไปในอนาคตจึงสามารถเพิ่มสูงขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อคำนึงถึงว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี เพิ่มเดิมพันในสงครามการค้าของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีน 34,000 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา กลายเป็นว่าอาจจะเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์ และ 500,000 ล้านดอลลาร์ในเวลานี้

อาจบางทีปัญหาที่สำคัญที่สุดที่หลายประเทศในเอเชียรวมทั้งสิงคโปร์และเกาหลีใต้กำลังเรียนรู้ก็คือ ไม่ว่าทรัมป์ก็ดี หรือสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเอง ไม่ได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างถ่องแท้แต่อย่างใด

นักวิเคราะห์หลายคนยืนยันว่า ทรัมป์ไม่เคยดำเนินนโยบายบนพื้นฐานของเหตุผล แต่อาศัยอารมณ์ความรู้สึกเป็นหลักเท่านั้น

สี จิ้นผิง เองก็ไม่เหมือนกับปฏิปักษ์รายไหน ๆ ที่ทรัมป์เคยเผชิญหน้ามา ซึ่งหมายถึงว่า ไม่มีวันที่จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีผู้นี้จะยอมจำนน แต่ยังพร้อมที่จะก่อสงครามยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ

เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ไม่ว่าใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็คงประสบความสูญเสียกันไปไม่มากก็น้อย อเมริกันทั้งหลายคงเจอปัญหาข้าวของราคาแพง ราคาค่าครองชีพสูงขึ้น จีนเองก็จะเจอปัญหาฟองสบู่ทั้งในแง่สินเชื่อ ควบคู่ไปกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และยากที่จะบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามเป้า 6.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่เหลือก็ควรระวังผลกระทบที่จะขยายวงกว้างออกไปกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้กันได้แล้ว นับตั้งแต่บัดนี้