กระแส “ฟินเทค” มาแรง แห่รับไลเซนส์ “แบงก์ออนไลน์”

ย้อนกลับไปราวครึ่งศตวรรษ ในวันที่เอทีเอ็มเครื่องแรกเปิดให้บริการ ณ กลางเมืองนิวยอร์ก ผู้คนซึ่งสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง มองว่านี่คือความสะดวกสบายที่สุดแล้ว ใครจะคิดว่าในอีก 50 ปีถัดมา ธนาคารทั้งสาขาใหญ่ สาขาย่อย จะถูกย่อลงมาอยู่แค่หน้าจอมือถือเท่านั้น

แม้ว่า “โมบาย แบงกิ้ง” จะเข้ามาเป็นเทรนด์สำคัญในช่วงหนึ่งแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการปรับตัวของธนาคารที่กระโดดข้ามแพลตฟอร์มเพิ่มช่องทางออนไลน์ให้บริการลูกค้า นอกจากทำธุรกรรมผ่านสาขา หรือตู้เอทีเอ็ม ขณะที่กระแสของ “ฟินเทค” (financial technology) ก็เข้ามามีบทบาทในธุรกิจการเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยศักยภาพความสามารถของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลทำให้สามารถตอบสนองและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทรงประสิทธิภาพ จนทำให้บรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่ทั่วโลกสั่นสะเทือน และต้องเร่งปรับตัวครั้งใหญ่

ขณะที่บทบาทของ “ฟินเทค” เพิ่มขึ้นอย่างมาก และขณะนี้ทางการของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็เปิดทางให้ใบอนุญาตจัดตั้ง “ธนาคารออนไลน์” ที่ทำธุรกิจการเงินครบวงจรบนหน้าจอมือถือ โดย “ไม่มีสาขา” หรือเอทีเอ็มเหมือนธนาคารทั่วไป แต่ให้บริการแบบธนาคารเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่ธุรกรรม ฝาก ถอน โอน จ่าย เท่านั้น แต่หมายรวมถึงการปล่อยกู้ ให้คำปรึกษาการลงทุน รวมไปถึงการขายประกันเช่นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“ดีบีเอส แบงก์” ของสิงคโปร์ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของอาเซียน เปิดเกมรุกตลาดอินเดีย โดยเปิดตัวธนาคารออนไลน์ภายใต้ชื่อว่า “ดิจิแบงก์ อินเดีย” เป็นการขยายตลาดแบบไม่ต้องลงทุนเปิดสาขา ให้บริการทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่ใช่กระดาษหรือลายเซ็น และยังเตรียมร่วมมือกับ 3 บริษัทตัวแทนประกัน เพื่อนำเอาสินค้าประกันชีวิตมาวางขายในแพลตฟอร์มอีกด้วย ซึ่งซีอีโอของดิจิแบงก์มองว่าแพลตฟอร์มออนไลน์มีความสามารถอีกมาก

ขณะที่ธนาคารกลางของ “สวีเดน” ก็เพิ่งอนุมัติใบอนุญาตธนาคารออนไลน์ ให้แก่ “Klarna” บริษัทฟินเทคขนาดใหญ่ของยุโรปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เดิม Klarna ให้บริการระบบชำระเงิน โดยร่วมมือกับผู้ค้าปลีกต่าง ๆ ที่ให้ลูกค้าได้รับสินค้าก่อนแล้วค่อยจ่ายเงิน พร้อมระบบให้เครดิตความเสี่ยงแก่ลูกค้าแต่ละคน เพื่อเป็นประโยชน์แก่บรรดาผู้ค้าปลีกด้วย จนปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 60 ล้านคน

ซีอีโอของฟินเทครายนี้ระบุว่า บริษัทต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการปรับโครงสร้างธุรกรรมการเงินเพื่อการปล่อยกู้รายย่อย

นอกจากนี้ “Zopa” ฟินเทคอีกรายของอังกฤษ ที่ให้บริการสินเชื่อรายย่อย ก็ได้ยื่นขอใบอนุญาตธนาคารออนไลน์เช่นกัน เพื่อที่จะยกระดับธุรกรรมไปอีกขั้น โดยต้องการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้กลุ่มอื่น ๆ มากขึ้น รวมถึง “SoFi” ฟินเทค

ด้านสินเชื่อบุคคล จากซานฟรานซิสโกก็ได้ยื่นขอรับไลเซนส์ตั้งธนาคารออนไลน์ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นธนาคารเพื่อการกู้ยืมภาคอุตสาหกรรม (ILC) ภายใต้ชื่อ “SoFi Bank of Utah” ทั้งยังต้องการที่จะเพิ่มบริการด้านการขายประกัน บัตรเครดิต และภาคส่วนอื่น ๆ อีกด้วย

ในยุคที่ฟินเทคกำลังครองเมือง ทุกฝ่ายยอมรับว่าอนาคตรูปแบบบริการทางการเงินจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง สตาร์ตอัพ “ฟินเทค” ทั้งหลายเร่งยกระดับธุรกิจสู่การเป็นธนาคารบนโลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อขยายบริการที่มากขึ้น กว้างขวางขึ้น รองรับชีวิตผู้คนบนหน้าจอมือถือให้ได้มากที่สุด

และเป็นการตอกย้ำว่าในยุคเทคโนโลยีครองเมือง ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจธนาคารได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ธุรกิจของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เช่นในอดีตอีกต่อไป